ก้าวเข้าไปข้างในหัวใจ : Listen with Your Heart

ผู้บริหารใหม่ มักเป็นผู้ที่บริหารจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการงานได้อย่างเข้มข้น ในทุกนาทีจึงมีความหมาย มีความสำคัญกับงาน ทำให้บ่อยครั้ง ในเวลาที่เราต้องฟังคำพูดจากทีมงาน เราจะรู้สึกหงุดหงิด อาจเป็นการฟังเพียงเวลาสั้นๆ แค่ไม่กี่นาที แต่เราจะรู้สึกว่ามันยาวนาน เพราะเราคิดว่าคำพูดเหล่านั้นเยิ่นเย้อเกินไป ไม่เป็นไปอย่างใจของเรา

ในอีกแง่หนึ่ง หากเรามองว่าการฟัง คือ ช่องทางที่เราจะทำความเข้าใจทีมงาน ไม่ด่วนสรุป ตัดสินตามชุดประสบการณ์เดิมของเรา นั่นก็จะคือโอกาสให้เรา ได้ก้าวเข้าไปข้างในหัวใจของเขา เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้น เกินกว่าเพียงแค่รับรู้ข้อมูลในงานแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ การฟังยังช่วยให้ผู้บริหาร ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้นำที่ฟังเป็น สร้างความรัก ความศรัทธาต่อทีมงาน และ ยังเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีเมื่อก้าวสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงอีกด้วย

ความสำคัญของการฟังอีกประการสำหรับผู้บริหารก็คือ เมื่อเราฟังเป็น เราจะได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ทุกคน ทุกฝ่าย กล้ารายงานข้อมูลต่อเรา ในทางตรงข้ามหากเราเป็นผู้บริหาร ที่ขาดทักษะด้านการฟัง ก็จะทำให้ทีมงานบางส่วนห่างหายจากเราไป ไม่กล้ารายงานข้อมูลตามความจริง จนในที่สุด เราจะได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว ก็คือด้านที่เราพอใจ จะไม่มีใครกล้าขัดใจเรา ในขณะเดียวกัน เราก็จะไม่สามารถหลอมรวมความสามารถของทีมงานได้ตามที่ควรจะเป็น

แนวทางการฟังด้วยหัวใจ (Listen with Your Heart)

หนึ่ง ) ปล่อยผ่านความคิด (Suspending)

ระหว่างเริ่มต้นการฟัง เราจะฟังเรื่องราวของผู้พูด ปะปนไปกับความคิดของตัวเอง โดยส่วนใหญ่เราจะฟังด้วยชุดประสบการณ์เดิมของเรา ทำให้การฟังไม่สามารถทะลุทะลวงผ่านความคิดของตัวเองไปได้ จะมีเสียงความคิดเล็กๆ ที่บอกว่า สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ผิด จนเมื่อเราสามารถทอดเวลาฟังต่อไปได้ แม้ผู้พูดจะเงียบเสียงลง เราก็จะไม่รีบร้อนทำลายความเงียบนั้น ด้วยการพูดแทรกแซง หรือแม้กระทั่งไม่รีบร้อนขานรับด้วยคำติดปาก เช่น เอาล่ะ, อื้อ, เข้าใจ, โอเค ฯลฯ ความคิดของเราก็จะผ่านพ้นไป เหมือนเมฆที่ลอยเคลื่อนผ่านท้องฟ้า จากนั้น เราก็จะสามารถจับประเด็นจากผู้พูดได้อย่างชัดเจน ได้เนื้อหาที่ครบถ้วน ได้สาระที่สดใหม่ เป็นปัจจุบัน

สอง ) เปิดใจให้ความเคารพ (Respecting)

เมื่อเราสามารถฟังผู้พูดได้อย่างชัดเจน ได้เนื้อหาที่ครบถ้วน ได้สาระที่สดใหม่ เป็นปัจจุบันแล้ว ในบางครั้ง การฟังก็จะหยุดชะงักอยู่เพียงแค่ข้อมูลที่ได้ยิน เพราะเกิดการปิดกั้นทางใจของเราเอง เนื่องจาก เราอาจมีอคติกับผู้พูด หรือ เรื่องราวที่ฟัง หัวใจของเราปิดกั้นด้วยความชอบ หรือ ไม่ชอบ ในเรื่องราวที่ได้ยิน ทำให้เราไม่สามารถฟังลึกลงไปได้ ตราบเมื่อฟังด้วยความเคารพ ให้ความเท่าเทียม หัวใจของเราก็จะเปิดออก เริ่มได้ยินในสิ่งที่ผู้พูด ไม่ได้พูดออกมา เราจะได้ยินไปถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ คุณค่า  ความเปราะบาง และ ความรักที่มีอยู่ในหัวใจของเขาด้วย

สาม ) พูดด้วยเสียงที่แท้จริง (Voicing)

เมื่อการฟังดำเนินไปสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะเกิดพื้นที่แห่งความไว้วางใจขึ้น ไม่จำเป็นต้องพูดให้ดูดี ไม่จำเป็นต้องพูดด้วยความเกรงใจ และ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการตัดสินเกิดขึ้นอีกด้วย ในช่วงเวลานี้ เสียงที่แท้จริงของผู้พูดก็จะผุดออกมา เราจะได้ยินในสิ่งที่ไม่เคยได้ยิน รวมถึงเสียงที่แท้จริงของเราก็จะผุดออกมาด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้การสนทนาระหว่างกันนั้น เต็มไปด้วยการเชื่อมโยงจากใจสู่ใจ ทุกคำพูดล้วนมาจากเสียงที่แท้จริง (Voicing) รู้สึกเบาสบายจากตัวตน ปราศจากการพูดเชิงกลยุทธ์ หรือ คาดหวังเอาผลประโยชน์ใส่ตน เมื่อปล่อยผ่านความคิดของตนเอง เปิดใจให้ความเคารพต่อกัน จะเกิดบทสนทนาที่สร้างสรรค์  และ นำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

Inspired by Isaacs, W. Dialogue: The Art Of Thinking Together. The Crown Publishing Group. 

แนวทางการฟังอย่างโค้ช (Listen as a Coach)

การฟังอย่างโค้ช คือ การฟังอย่างกระตือรือร้น (Active Listening) เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างโค้ช และ ผู้รับการโค้ช ในการกระตุ้นความคิด และ สร้างสรรค์กระบวนการโค้ช เพื่อให้เกิดการยกระดับศักยภาพของผู้รับการโค้ช ทั้งในเรื่องส่วนตัวและการงาน เป็นการฟังที่มุ่งเน้นที่จะฟังทั้งในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชพูด และ ไม่ได้พูด เพื่อที่จะเข้าใจความหมายตามบริบทจากความต้องการของผู้รับการโค้ช และ เป็นการฟังที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้รับการโค้ชได้แสดงตัวตนออกมา สรุปแนวทางการฟังอย่างโค้ช (Listen as a coach) ได้ดังต่อไปนี้

  1. โค้ชตั้งใจฟัง ในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชอยากพูด ไม่ใช่สิ่งที่โค้ชอยากฟัง
  2. โค้ชฟังให้ได้ยินในเป้าหมาย สิ่งที่เหนี่ยวรั้ง คุณค่า และ ความเชื่อ ของผู้รับการโค้ช
  3. โค้ชฟัง และ สังเกตอย่างครบถ้วน ทั้งถ้อยคำ น้ำเสียง และ ภาษากาย ของผู้รับการโค้ช
  4. โค้ชช่วยสรุป ถอดความ เน้นย้ำ สะท้อนกลับ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด และ ความเข้าใจที่ตรงกัน
  5. โค้ชสนับสนุนส่งเสริม ให้ผู้รับการโค้ช ได้แสดงความรู้สึก การรับรู้ ความเชื่อ และ ทางออกด้วยตนเอง
  6. โค้ชช่วยหลอมรวม ก่อประกอบความคิด และ ทางออก ที่เกิดจากผู้รับการโค้ช ให้กับผู้รับการโค้ช
  7. โค้ชช่วยให้ผู้รับการโค้ชเกิดความคิดที่ก้าวหน้าไปสู่เป้าหมาย โดยไม่ติดอยู่ในวังวนของเรื่องราว
  8. โค้ชอนุญาตให้ผู้รับการโค้ชได้คลี่คลายสถานการณ์ตรงหน้า โดยไม่เข้าไปตัดสิน ไม่เร่งลัดสู่ขั้นตอนต่อไป

เราสามารถฝึกการฟังได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟังคนที่อยู่รอบตัว เมื่อเราฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เราจะได้รับพลังจากการฟังด้วย นั่นก็เพราะว่า ทุกเรื่องราวล้วนมีคุณค่า เช่น เรื่องราวที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต บทเรียนที่ค้นพบ ปัญญาที่ซ่อนอยู่ เป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจต่อเรา เราจะได้รับพลังเชิงบวกจากการฟัง คุณภาพของการฟังของเรา ก็จะถูกยกระดับขึ้นด้วย อุปมาเหมือนพื้นที่ว่าง (Container) ภายในใจของเราได้ขยายกว้างออก ใจที่เปิดกว้าง ทำให้เรารับฟังได้อย่างเปิดกว้าง หลากหลายมุมมอง

และนี่ก็คือ ก้าวที่ 3 ใน…
9 แก่นสารสำคัญ สำหรับผู้บริหารใหม่
The 9 Essences for New Executive

หลักสูตรฝึกอบรมสำหรับองค์กร หัวข้อ การฟังอย่างลึกซึ้ง : Deep Listening

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments