ออกรบสยบตนเอง : Fourfold Development

ขงจื้อ กล่าวว่า “ผู้ที่ชนะตนเองได้ คือ ที่สุดแห่งนักรบ” (He who conquers himself is the mightiest warrior.) ที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะ กระบวนการด้านในของชีวิตมนุษย์ มีความโกลาหล ซับซ้อน ลุ่มลึก ยิ่งกว่าสงครามใด ๆ

ผมคิดไปถึงสิ่งที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เขียนไว้ในหนังสือ “บทนำสู่พุทธธรรม ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์” ท่านได้กล่าวถึงการพัฒนาชีวิตเอาไว้เป็น 4 ส่วน ได้แก่ กายภาวนา, ศีลภาวนา, จิตตภาวนา และ ปัญญาภาวนา ซึ่งท่านได้เทียบเคียงเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วยว่าคือ Physical Development, Social Development, Emotional Development และ Wisdom Development ตามลำดับ และ เรียกรวมกันเป็นภาษาอังกฤษว่า “Fourfold Development”

ขอสรุปพร้อมอุปมาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างกระชับในเบื้องต้น ดังต่อไปนี้ครับ

1. Physical Development คือ การพัฒนาระบบนำเข้าข้อมูล (Input System) ของมนุษย์ที่มี 5 ช่องทาง ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และ กาย หากอุปมาการพัฒนาชีวิต คือ การจุดเทียนให้สว่าง การพัฒนาในข้อนี้ก็คือ การป้องเทียนไม่ให้ดับ หรือ วางเทียนในที่อันควร คือ เลือกรับข้อมูลที่เกื้อหนุนให้เกิดประโยชน์ครับ

2. Social Development คือ การพัฒนาระบบส่งออกข้อมูลสู่ภายนอก (Output System) ซึ่งประกอบด้วย 2 ช่องทาง ได้แก่ การพูด และ การกระทำ

3. Emotional Development ในที่นี้ คือ การพัฒนาระดับจิตใจครับ เป็นเสมือนข้อต่อที่เชื่อมระหว่างข้อ 1 คือ ระบบนำเข้าข้อมูล (Input System) และ ข้อ 2 คือ ระบบส่งออกข้อมูล (Output System) ด้วยเหตุนี้ ส่วนนี้จึงแบ่งเป็น 2 หน้าที่ ได้แก่

3.1 ) ทำหน้าที่เป็นระบบนำเข้าข้อมูลสู่ใจ ที่จะรอรับข้อมูลที่คัดกรองมาจากระบบนำเข้าทั้ง 5 ช่องทาง จากข้อ 1 ครับ (Physical Development)

3.2 ) ทำหน้าที่เป็นระบบนำออกข้อมูลจากใจ (แสดง “เจตนา”) เพื่อส่งต่อไปยังระบบส่งออกข้อมูลทั้ง 2 ช่องทางในข้อ 2 ครับ (Social Development)

4. Wisdom Development คือ ปัญญาที่รู้ถึงความจริงในกระบวนการพัฒนาทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา ได้แก่ Physical Development, Social Development และ Emotional Development ครับ

อุปมาข้อ 1 และ ข้อ 2 เหมือนสนามรบภาคพื้นดิน ข้อ 3 เหมือนสนามรบทางน้ำ และ ข้อ 4 เหมือนสนามรบทางอากาศที่มองเห็นเบื้องล่างทั้งหมด

หากเป็นเช่นนี้ การออกรบสยบตนเอง ในหนทางหนึ่งก็คือ การศึกษาทั้ง 4 ข้อข้างต้น ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในตนเองอย่างลึกซึ้งมาก ๆ เลยทีเดียว

ท่านติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวไว้ว่า “มันคือความแน่ใจของฉันว่าไม่มีทางสู่สันติ – สันติคือหนทาง” (It is my conviction that there is no way to peace – peace is the way.)

เมื่อออกรบสยบตนเองได้ ก็จะเกิดสันติขึ้นจากภายในใจของเรา การสื่อสารออกไปผ่านคำพูด และ การกระทำ ย่อมเกิดผลดีต่อความสัมพันธ์ นำมาซึ่งประโยชน์สุข และ ประสิทธิภาพในการทำงานทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ในระดับหนึ่งว่า

“การออกรบสยบตนเอง คือ ที่สุดแห่งการรบ”

มาออกรบเพื่อสันติจากภายในกันเถอะ !

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments