การฟังอย่างลึกซึ้ง : deep listening

การฟังอย่างลึกซึ้ง คือ การฟังด้วยใจที่เปิดรับ สามารถจับประเด็นได้ เข้าถึงความรู้สึกของผู้พูด จนไปถึงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อประสานพลังให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ในขณะที่ฟัง คุณจำเป็นต้องตระหนักรู้ถึงเสียงภายในตนเอง ผ่อนคลายร่างกาย ปล่อยผ่านเสียงภายใน ขยับขยายพื้นที่ว่างภายในใจเพื่อให้การฟังของคุณสามารถโอบรับประสบการณ์ที่หลากหลาย แม้จะเป็นประสบการณ์ที่คุณไม่คุ้นชินได้ก็ตาม

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ให้สัมภาษณ์กับ โอปราห์ วินฟรีย์ เอาไว้ว่า “การฟังอย่างลึกซึ้งนั้น คือ การฟังที่สามารถบรรเทาความทุกข์ของคนพูด โดยเราสามารถเรียกอีกอย่างว่า การฟังด้วยความกรุณา (Compassionate Listening) เราฟังด้วยเจตนาเดียว คือ ช่วยให้เขาหรือเธอ ได้ปลดปล่อยให้ใจว่าง”

Listening

การฟังอย่างลึกซึ้งในทฤษฎีตัวยู (ออตโต ชาร์เมอร์, 2563) ได้แบ่งการฟังออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ (1) I-in-Me (2) I-in-It (3) I-in-You และ (4) I-in-Now โดยมีรายละเอียดดังนี้

การฟังระดับที่ 1 “I-in-me”

ในขณะที่ฟังคุณจะตัดสินสิ่งที่ฟัง จากประสบการณ์เดิมของคุณเอง การฟังจึงเป็นการเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่ตรงกับความคิดเห็นเดิมของคุณ เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นถูกต้องดีอยู่แล้ว การฟังในระดับนี้ ไม่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แต่คุณสามารถฟังให้ลึกซึ้งขึ้นได้ ด้วยการเพิ่มเติมความสนใจใคร่รู้ (Curiosity) ในสิ่งที่กำลังฟัง จนสามารถปล่อยผ่านเสียงตัดสินภายในใจได้

การฟังระดับที่ 2 “I-in-It”

ความสนใจใคร่รู้ (Curiosity) ที่มากพอจะทำให้คุณเปิดความคิด (Open Mind) สามารถจับประเด็นในเนื้อหาสาระได้ โดยไม่เปรียบเทียบสิ่งที่กำลังฟังกับความคิดเห็นเดิมของคุณเอง ใจของคุณจะเป็นอิสระจากเสียงตัดสินในหัว (Voice of Judgement) แม้พบว่ามีบางสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วย แต่คุณก็ยังสามารถฟังต่อไปได้ แม้พบว่าเป็นสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว คุณก็จะไม่พูดแทรก ไม่เผลอชี้แนะ บอกสอน คุณจะไม่แย่งซีนคนที่กำลังพูด ด้วยการคุยประสบการณ์ของคุณทับถมประสบการณ์ของเขาให้ดูด้อยลง หากเขากำลังเล่าถึงประสบการณ์ของเขาอย่างออกรสออกชาติ คุณจะไม่พูดว่า “คุณทำเหมือนสิ่งที่ฉันเคยทำเลย” แต่คุณจะรับฟังเรื่องราวจนจบด้วยความสนใจใคร่รู้ แล้วพูดว่า “นั่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ”

การฟังระดับที่ 3 “I-in-You”

ความกรุณา (Compassion) ที่มากพอจะทำให้คุณเปิดใจ (Open Heart) ข้ามพ้นเสียงภายในใจที่มาจากความรังเกียจ ดูถูก ดูแคลน (Voice of Cynicism) ที่เกิดจากการเปรียบเทียบกับคุณค่าเดิมที่ตัวคุณยึดถืออยู่ ความเคารพในผู้อื่น จะทำให้คุณสามารถฟังได้อย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathetic Listening) คุณจะสามารถฟังได้มากกว่าแค่ข้อเท็จจริง แต่จะสามารถฟังเข้าไปถึงความรู้สึกของผู้พูดด้วย

การฟังระดับที่ 4 “I-in-Now”

ความกล้าหาญ (Courage) ในการละวางตัวตน จนคลายจากการยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็น จะทำให้คุณเปิดเจตจำนง (Open Will) ก้าวข้ามเสียงภายในใจที่เป็นเสียงจากความกลัว (Voice of Fear) ว่าจะสูญเสียตัวตน สูญเสียการยอมรับ สูญเสียความดีงามที่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อก้าวข้ามได้จะเกิดพื้นที่ว่างภายในใจ พร้อมต้อนรับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกิดการหลอมรวมประหนึ่งว่าคนพูดและคนฟังเป็นคนคนเดียวกัน ออกจากอดีต-อนาคต ออกจากตัวฉัน-ตัวเธอ เข้าสู่สภาวะแห่งสมาธิที่เรียกว่า “เพรเซนซิ่ง” (Presencing) ช่วงขณะนี้เอง จะเกิดการปิ๊งแว๊บสิ่งใหม่ ที่เรียกว่า ปัญญาญาณ (Intuition) หรือ ปัญญาร่วม (Collective Insight)

deep_listening01

การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นทักษะที่เกิดประโยชน์ทันทีที่ได้เริ่มฝึก เพราะช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของผู้นำ ทีมงานอยู่ใกล้แล้วสบายใจ อยากปรึกษา อยากทำงานด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงโลกด้านในของผู้ฟังกับโลกด้านนอกที่ปรากฏผ่านการฟัง สามารถใช้เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทั้งในด้านจิตวิญญาณ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  • ออตโต ชาร์เมอร์. (2563). หัวใจทฤษฎีตัวยู: หลักการและการประยุกต์ใช้… สู่การตื่นรู้และการสร้างขบวนการทางสังคม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
  • Scharmer, O. (2018). The Essentials of Theory U: Core Principles and Applications. CA: Berrett-Koehler Publishers.
เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments