กระบวนกรสัญจร ล่องแดนใต้ : Facilitator workshop in the south of Thailand.

เริ่มต้นปี 2559 ด้วยการติดตาม ร่วมทีม FA (Facilitator) กับอาใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู เดินทางล่องใต้กับ 2 Workshop ติดต่อกัน ได้รับประสบการณ์ และ ได้เรียนรู้วิถีแห่งกระบวนกร ทั้งใน Workshop และ นอกเวลา Workshop อาใหญ่เปิดให้ทีม FA ร่วมคิดวางแผนกระบวนการสอนอยู่ทุกระยะ ระหว่างช่วงพักในแต่ละวัน และ ระหว่างมื้ออาหาร เช้า กลางวัน เย็น และ รอบค่ำด้วย ขอบอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ใน Workshop แรก คืนสู่ความเป็นเลิศ โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหาร ในองค์กรการศึกษาแห่งหนึ่ง เป็นเวลา 3 วัน (4-6 มกราคม 2559) ดังต่อไปนี้ครับ

Workshop คืนสู่ความเป็นเลิศ วันที่ 1  (4 มกราคม 2559)

ช่วงเช้า : หลังจากการ Check-in แนะนำตัว ปรับสภาวะสู่การเรียนรู้ เราเริ่มต้นด้วยกิจกรรม Group Process เปิดประเด็นว่า เราจะคืนสู่ความเป็นเลิศได้อย่างไร ทำให้เกิดเสียงสะท้อนที่หลากหลาย พอจับสังเกตได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีพลังแห่งปัญญาและความเมตตา หากได้พูดคุยกันได้มากกว่าที่เคย จะก่อเกิดเป็นประโยชน์ได้อย่างไม่ยากเย็น จากจุดนี้ ทำให้เห็นภาพกิจกรรมของทั้งวันแล้ว การฟังอย่างลึกซึ้ง คือ สิ่งที่เราจะนำเสนอ เพียงแต่ว่าในช่วงเช้านี้ เราเลือกที่จะสร้างความเข้าใจในการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ด้วยการนำเสนอทฤษฎี เรื่อง โหมดชีวิต สมอง 3 ชั้น ปัญญา 3 ฐาน การรับรู้แบบ Downloading และ วงจรอัตโนมัติของสมองมนุษย์ เพื่อให้เป็นพื้นฐานก่อน

ช่วงบ่าย : ผ่อนคลายด้วยกิจกรรมเล็กๆ สบายๆ นำพาผู้เรียนให้ได้สัมผัสกายและใจ จากนั้นจึงเข้าสู่กิจกรรมหลัก คือ การเล่าเรื่องวัยเด็ก เพื่อฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง การสะท้อนกลับถึงความรู้สึกที่ได้ฟัง นำพาผู้เรียนรู้ให้ได้รู้จัก คำว่า Dialogue อย่างแท้จริง (Dialogue is the way of thinking together.) เรายังคงเฝ้าสังเกตผู้เรียนรู้ และ พบว่าแม้ภายนอกจะดูผ่อนคลายด้วยกิจกรรม แต่หากวิเคราะห์ถึงการเรียนรู้ระดับจิตใต้สำนึก (Subconscious) เราพบว่าการเรียนรู้ได้ลงลึกมากแล้ว เพราะ การมีสมาธิกับการฟังอย่างลึกซึ้ง ในการฝึกฝนช่วงแรกๆนั้น ต้องใช้พลังมาก ถึงตรงนี้ ก็ทบทวนย้อนมาดูที่ตัวเอง คิดถึงในยุคแรกเริ่มที่ตัวเองได้ฝึกการฟังใหม่ๆ ก็ยอมรับว่า เอ่อ.. เหนื่อยจริงๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้ เราจึงยังไม่ได้เติมความรู้ ภาคทฤษฎีใหม่ๆ เพิ่มเข้าไป เราเลือกที่จะใช้กิจกรรมขยายผล เพื่อเพิ่มทักษะการฟัง ด้วยกิจกรรม World Cafe จากการ Dialogue พูดคุยกันแบบจับคู่ เปลี่ยนมาเป็นการจับกลุ่ม สุนทรียสนทนาแบบ 3 คนบ้าง

เสียงสะท้อนจากผู้เรียนรู้ คือ รู้สึกทึ่งในผลแห่งการฟัง รู้สึกแปลกใหม่ กับการฝึกอบรมแนวนี้ เห็นประโยชน์ว่านำไปใช้ได้อย่างแท้จริง บางคนถึงกับสะท้อนว่าอยากให้เพื่อนๆ ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย บางคนอ้างถึงทฤษฎีสำคัญ ในด้าน L.O. (Learning Organization) เรื่อง The Fifth Discipline และ บอกว่านี่คือครั้งแรกที่ได้เข้าใจจริงๆ เพราะได้สัมผัสจริงๆ รวมความแล้ววันแรกนี้ เราก็สามารถนำเสนอสุนทรียสนทนา (Dialogue) และ ทักษะการฟัง สู่ชุมชนแห่งนี้ได้อย่างสวยงาม เกิดความประทับใจ ศรัทธาในกระบวนการเรียนรู้ พร้อมเปิดใจ เรียนรู้ทุกสิ่งอย่างด้วยกันต่อไป อีก 2 วัน

สมุดบันทึกเล่มใหม่ ซื้อที่ร้านเครื่องเขียน ในตัวเมือง จ.สงขลา

Workshop คืนสู่ความเป็นเลิศ วันที่ 2 (5 มกราคม 2559)

ช่วงเช้า : ผมได้แชร์ประสบการณ์ การเรียนรู้จากสังฆะหมู่บ้านพลัม เชื่อมโยงถึง การเรียนรู้ในชุมชนของอาใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ความน่าสนใจ คือ ศิลปะแห่งการจุดแสงให้กับผู้เรียนรู้แบบหมู่บ้านพลัม และ ศิลปะแห่งการเชื่อมโยงสู่จิตใจในทุกมิติของผู้เรียนรู้ได้ แบบชุมชนของอาใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู จากนั้นเราได้เริ่มพูดถึงชุมชนนักปฏิบัติ CoP (Community of Practice) ตามด้วยการบรรยายเรื่อง ครู 3 ระดับ ได้แก่ ครูโดยอาชีพ ครูแบบนักวิชาการ และ ครูด้วยจิตวิญญาณ ตามด้วยกิจกรรม “ฉันดำรงอยู่เพื่อเธอ” เพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้เข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นครู ด้วยตัวเอง

ช่วงบ่าย : กิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ (Body Scan) จากนั้น ก็ร่วมแลกเปลี่ยนกันอีกครั้ง จากประเด็นเปิด ในวงใหญ่ สู่เทคนิค Micro System เพื่อการสร้างการสนทนาที่ไหลลื่นในวงย่อยๆ การพูดคุยในช่วงนี้ ได้ตกผลึกทางปัญญามากมาย ตอกย้ำให้ผู้เรียนได้เห็นถึงคุณค่าของการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) จากนั้นเราจบด้วยกิจกรรม เขียนความสุข ที่ช่วยให้ผู้เรียนรู้เข้าสู่สมาธิ ได้ใช้สมองซีกขวาจินตนาการ เขียนภาพความสุขออกมา ได้แบบถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โดยมีงานวิจัย พบว่า การเขียนความสุข เช่นนี้ ช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วย เป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่มีประโยชน์ น่าเผยแพร่ต่อไป

เวลาเย็นๆ พวกเราทีมกระบวนกร ออกมาเดินเล่น
เชื่อมต่อกับธรรมชาติ และ วิถีชีวิตผู้คน ที่ หาดสมิหลา สงขลา


Workshop คืนสู่ความเป็นเลิศ วันที่ 3 (6 มกราคม 2559)

ช่วงเช้า : เราเริ่มต้นด้วยการให้ผู้เรียนรู้ Check-in สั้นๆ แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้เรียนรู้ได้สะท้อนถึงสิ่งที่ได้รู้มาตลอด 2 วัน อย่างน่าสนใจมากๆ จนทำให้เราเปิดเวลาให้กับช่วงนี้ยืดยาวออกไปอย่างอิสระ ผลที่ได้รับอย่างชัดเจนในช่วงนี้ คือ การสำนึกรัก และ ภูมิใจในตนเองอย่างลึกซึ้ง ช่วงต่อมา เราเข้าสู่การบรรยาย เรื่อง ผู้นำ 4 ทิศ ในขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนรู้เข้าใจตนเองได้ชัดเจนขึ้น พร้อมทั้งยอมรับในบุคลิกเฉพาะ (Personality) ของผู้อื่นได้ ส่วนตัวผมเองได้ตกผลึกในการเรียนรู้ว่า การเปิดโอกาสให้กับความเป็นไปได้ในทุกห้วงขณะ คือ ตะเกียบอีกข้างของการใช้ศาสตร์ด้านบุคลิกภาพ (Personality) หมายถึงว่า การเฝ้าสังเกตผู้คนอย่างเป็นปัจจุบัน โดยไม่ Download ข้อมูลเก่าๆมาใส่ใจ อาใหญ่เสริมความเข้าใจนอกรอบ ในเรื่องการเรียนรู้ด้านบุคลิกภาพ (Personality) ว่า เราสามารถเคลื่อนย้ายตัวตนไปสู่บุคลิกภาพต่างๆ ได้เสมอ ตามแต่สถานการณ์ที่เหมาะสม เราทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ทุกชนิดครบถ้วนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรดน้ำเมล็ดพันธุ์ไหน ในขณะที่ การทำให้กระจ่าง (Discernment) ที่ประกอบด้วยความรักนั้น ไม่ใช่การตัดสินใคร เพราะการตัดสินผู้อื่นนั้น แท้จริง เกิดจากปมในใจของผู้ตัดสินนั่นเอง

ช่วงบ่าย : เป็นช่วงปลุกกระชากวิญญาณทิ้งทวน ท้าทายให้ผู้เรียนรู้ ลงมือทำอย่างที่จิตวิญญาณตัวเองต้องการ อาใหญ่ พูดถึง Mind Set สำคัญว่า เมื่อเราเลือกทำสิ่งที่ชอบ เราจะได้ทำสิ่งที่ชอบมากขึ้นๆ ตรงกันข้าม เมื่อเราเลือกทำในสิ่งที่ไม่ชอบ เราก็จะได้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบอยู่อย่างนั้น พร้อมทั้งขยายความ คำว่า ไม่ชอบ ว่าเกิดจาก 2 ทาง ทางหนึ่งคือ ไม่ชอบเพราะไม่ตรงกับจิตวิญญาณ อีกทาง คือ ไม่ชอบเพราะ รอคอยการข้ามขอบ (จมอยู่ในหลุมเสพย์ ที่คุ้นเคย) จากนั้นจึงนำพาผู้เรียนรู้ เข้าสู่กิจกรรม ข้ามขอบ ด้วยการบรรยาย พร้อมทั้งใช้การ Coach ผู้เรียนรู้ ที่มีแววกระบวนกร ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจสำคัญ สู่การก่อเกิดชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) ต่อยอดการเรียนรู้กันต่อไป
ทีมกระบวนกรครั้งนี้ จอม รัน อาใหญ่ พี่ไก่ แหม็ก และ เนท
กระบวนกรสัญจรล่องใต้ ครั้งนี้ เรายังได้จัด Workshop ต่อเนื่องอีกหนึ่งงาน คือ เลี้ยงลูกด้วยจิตตื่นรู้ จะได้เขียนสรุปพอสังเขป ขอให้โปรดติดตามอ่าน ในโอกาสต่อไปนะครับ ^__^
เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments