รันกระบวนการเรียนรู้ ผ่านบทสนทนาใน 4 มิติ – Dialogue in PURE Learning Process

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งในคำอธิบายกระบวนการเรียนรู้แบบหนึ่งที่ชื่อว่า PURE Learning Process ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่ใช้สร้างการเรียนรู้ร่วมกันไปจนถึงการบ่มเพาะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากด้านใน ในกระบวนการนี้จะประกอบไปด้วย 4 ช่วง โดยแต่ละช่วงจะประกอบไปด้วยบทสนทนาที่แตกต่างกันใน 4 มิติ ดังนี้ครับ

1. บทสนทนาระหว่างผู้เรียน (Understand-Reflect)

ในระหว่างการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วงเวลาที่จำเป็นต้องมี คือ การสะท้อน (Reflect) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ภายหลังเกิดความรู้สึกใหม่ การค้นพบความหมายใหม่ อุปมาเหมือนรอน้ำเดือดจนได้จังหวะ เมื่อเปิดฝาหม้อในเวลาที่เหมาะสม จะเกิดบทสนทนาที่พร้อมแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้อย่างออกรสออกชาติ ดังนั้น Facilitator จำเป็นต้องมีทักษะในการสังเกตพลังงานกลุ่ม (Collective Energy)

2. บทสนทนากับผู้รู้ (Reflect-Explain)

ในระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เรียน หากสังเกตพบการตกหล่นสาระพื้นฐานไป ก็มีความจำเป็นจะต้องมีผู้รู้ในเรื่องนั้น มาเสริมเพิ่มให้การเรียนรู้ครบถ้วนในส่วนพื้นฐาน และเปิดรับความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากผู้เรียนทุกคน ดังนั้น Facilitator จำเป็นต้องมีทักษะ ในการเชื่อมโยง หลอมรวมตกผลึกเป็นความรู้ร่วมกัน ให้เห็นเป็นภาพร่วมกัน (Connectedness)

3. บทสนทนากับโค้ช (Explain-Practice)

ในช่วงเวลาก่อนผ่านประสบการณ์ การสร้างบทสนทนาในเชิงของการโค้ช จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใคร่รู้ อยากรู้ อยากลองด้วยตนเอง เกิดความเข้าใจในแนวทางผ่านฐานคิด มีความเต็มใจและสนใจทำผ่านฐานใจ และมีฐานกายที่พร้อมอยู่ใน Flow ก็จะทำให้การลงมือทำเกิดการเรียนรู้ได้มาก ดังนั้น Facilitator จึงจำเป็นต้องมีทักษะการพริ้วไหว (Improvisation) และการโค้ช (Coaching)

4. บทสนทนากับตัวเอง (Practice-Understand)

ในระหว่างและภายหลังผ่านประสบการณ์ หากผู้เรียนได้มีเวลาอยู่กับความเงียบ (Silent) และรับฟังเสียงจากภายในใจตนเอง (Listen) บทเรียนสำคัญมักปรากฏผ่านช่วงเวลานี้ จนเกิดความรู้สึกใหม่หรือความหมายใหม่ (Understand) เกิดความเข้าใจในตนเอง แม้ยังไม่เปล่งวาจาใด ๆ ออกมา ในขั้นนี้ หากผู้เรียนได้มีการฝึกฝนบ่มเพาะสมาธิ และหมั่นลับคมความคิดโดยฝึกฝนอุปมาอุปมัยจากธรรมชาติรอบตัวมาก่อน จะช่วยให้เห็นสภาวะในช่วงเวลานี้ได้ถี่บ่อยและคมชัดขึ้น

PURE Learning Process หากใช้ครบทุกขั้นตอนก็จะเกิดผลที่นำไปสู่ PURE Advanced Learning Process ซึ่งจะขอนำเสนอเมื่อมีโอกาสเหมาะสมต่อไป ในอีกด้านหนึ่ง เรายังสามารถปรับใช้ PURE Learning Process ให้ง่าย ด้วยการข้ามบางขั้นตอนไปได้ เพื่อบ่มเพาะสร้างการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทและเป้าหมายของการเรียนรู้ครับ

P. Theeran., (2017), PURE Learning Process, runwisdom.com

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments