กระบวนกรในบทบาทผู้ให้คำปรึกษา : facilitator as counselor

ในวิถีจริงของกระบวนกร เมื่อกระบวนกรมีประสบการณ์ในการลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนมากพอ รวมถึงเมื่อกระบวนกรมีความมั่นคงภายในตนเอง (self-awareness) จนสามารถประเมินสภาวะการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ กระบวนกรผู้นั้นจะสามารถขยับขยายบทบาทของตัวเองออกไป จากการเป็นเพียง วิทยากรกระบวนการ (facilitator) ซึ่งโดยทั่วไปจะดำรงบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ต่อยอดสู่การเป็นกระบวนกรนักบำบัด (facilitator as a therapist) ซึ่งอาจใช้กิจกรรมศิลปะบำบัด (art therapy) เข้ามาในกระบวนการเรียนรู้ มากไปกว่านั้น อาจขยับขยายสู่บทบาทของการเป็นกระบวนกรผู้ให้คำปรึกษา (facilitator as  a counselor) มีทักษะการฟังอย่างกรุณา (compassionate listening) และ อาจเชี่ยวชาญลึกซึ้งในโลกด้านในของมนุษย์ จนสามารถเป็นกระบวนกรผู้เยียวยา (facilitator as a healer) คลี่คลายปม (trauma) สำคัญๆ ที่เป็นอุปสรรคในชีวิตได้ งานเขียนนี้จะเขียนถึง “กระบวนกรผู้ให้คำปรึกษา” โดยเขียนจากประสบการณ์งานกระบวนกรของผู้เขียน หลอมรวมเข้ากับทฤษฎีจิตวิทยาการให้คำปรึกษา (counseling) ที่ได้เรียนรู้กับโค้ชจิ๊บ จารุวดี ปวรินทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา

การให้คำปรึกษา (counseling) หมายถึง ขบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มาขอรับคำปรึกษาเพื่อให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาใช้ความสามารถ และ คุณสมบัติที่เขามีอยู่จัดการกับชีวิตของตนเองได้ เช่น สามารถตัดสินใจได้เอง และ แก้ปัญหาการขัดแย้งทางอารมณ์ได้ (Tayler, 1954) โดยมุ่งเน้นเพื่อให้สามารถตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) สามารถดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมั่นคง

การให้คำปรึกษา (counseling) เริ่มต้นจากการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ (connect and build rapport) ระหว่างผู้ให้คำปรึกษา (counselor) และ ผู้รับการปรึกษา (counselee) ผู้ให้คำปรึกษาจะใช้ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) เพื่อดำรงอยู่ร่วมกับผู้รับคำปรึกษา ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัย ให้คุณค่ากับเวลาในการรับฟังเสียงที่แผ่วเบาจากความรู้สึกภายใน หรือ เสียงที่เต็มไปด้วยความครุ่นคิดกังวล ผู้ให้คำปรึกษาจะใช้ทักษะการหยิบยืมคำจากผู้พูดเพื่อพูดซ้ำในแบบเดียวกัน (restatement, backtrack) ใช้ทักษะการย่อความเพื่อทำให้กระจ่าง (clarification) ใช้ทักษะการถาม (asking) มากกว่า การบอกสอน (telling) เฝ้าสังเกต สืบค้น (inquiry) หาความทุกข์ยากลำบากใจที่แท้จริงของผู้รับคำปรึกษา จนสามารถจำแนกความทุกข์ได้ว่า เป็นความทุกข์ระดับความคิด, ระดับความรู้สึก หรือ ระดับพฤติกรรม เพื่อประเมินเลือกใช้แนวทางการให้คำปรึกษา และ ทฤษฎีในการให้คำปรึกษาต่อไป

ภายหลังการทราบทุกข์ที่ต้องการคลี่คลาย ผู้ให้คำปรึกษา สามารถประเมินเลือกแนวทางการให้คำปรึกษา ได้ 3 แนวทาง ได้แก่ การให้คำปรึกษาแบบนำทาง (directive counseling), การให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง (non-directive counseling) หรือ การให้คำปรึกษาแบบสายกลาง (eclectic counseling)

แนวทางการให้คำปรึกษา

  1. การให้คำปรึกษาแบบนำทาง (directive counseling)
    คือ การดำรงบทบาทคล้ายที่ปรึกษา (counselor as a consultant) เสนอแนะ (suggestion) วิธีการคลี่คลายทุกข์อย่างชัดเจนให้กับผู้รับคำปรึกษา โดยมุ่งเน้นเพื่อให้สามารถตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) สามารถดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมั่นคง
  2. การให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง (non-directive counseling)
    คือ การดำรงบทบาทคล้ายโค้ช (counselor as coach) ใช้คำถามชี้ให้เกิดการตระหนักรู้ได้ด้วยตนเอง หรือ ใช้ทักษะการเล่าเรื่อง (story telling) ยกตัวอย่างเทียบเคียง เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับตัวเอง จนสามารถค้นพบทางออกได้เอง โดยมุ่งเน้นเพื่อให้สามารถตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) สามารถดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมั่นคง แตกต่างจากโค้ชตรงที่ โค้ช จะมุ่งเน้นไปสู่การค้นพบแนวทางการพัฒนาตนเอง (self-development) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต
  3. การให้คำปรึกษาแบบสายกลาง (eclectic counseling)
    คือ การดำรงบทบาททั้งแบบคล้ายที่ปรึกษา และ แบบคล้ายโค้ช รวมแนวทางทั้งข้อ 1 และ ข้อ 2 เข้าด้วยกัน ทั้งเสนอแนะ และ ชี้ให้เกิดการตัดสินใจ รับผิดชอบ และ จัดการกับชีวิตได้ด้วยตนเอง โดยมุ่งเน้นเพื่อให้สามารถตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) สามารถดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมั่นคง

ทฤษฏีการให้คำปรึกษา

เมื่อทราบทุกข์ที่ต้องการคลี่คลาย ผู้ให้คำปรึกษา จำเป็นต้องประเมินขอบเขตงานการให้คำปรึกษา ตามความสามารถของตัวเอง แล้วนำพากระบวนการด้วยความเชี่ยวชาญ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ทฤษฎีทั้งหมด แต่หากทราบถึงทฤษฎีทั้งหมดแล้ว ก็จำเป็นต้องแตกฉานในทฤษฎีให้ได้ เพราะเมื่อแตกฉานในทฤษฎีจึงสามารถเชื่อมโยงถึงทฤษฏีต่างๆ ที่มีมากมายได้อย่างเป็นธรรมชาติ นำพากระบวนการได้อย่างลื่นไหล

  1. ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) โดย  Sigmund Freud
  2. ทฤษฎีลักษณะ องค์ประกอบ (Trait-Factor Theory) โดย Cattell, Spearman และ Thurstone
  3. ทฤษฎีเหตุผล และ อารมณ์ (RET : Rational Emotional Therapy) โดย Albert Ellis
  4. ทฤษฎียึดผู้ขอคำปรึกษาเป็นศูนย์กลาง (Client Center Therapy) โดย Carl R. Rogers
  5. ทฤษฎีของ Gestalt (Gestalt Therapy) โดย Frederick S. Perls
  6. ทฤษฎี Existential (Existentialism Theory) โดย Viktor E. Frank
  7. ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behavioral Counseling) โดย Wolpe, Salter, Dollard และ Miller
  8. ทฤษฎีการวิเคราะห์สัมพันธภาพ (TA : Transactional Analysis) โดย Eric Berne
  9. ทฤษฎีความเป็นจริง (Reality Theory) โดย William Glasser

psychology

เมื่อปิดงานการให้คำปรึกษา (counseling) หากผู้รับคำปรึกษามีความตระหนักรู้ (self-awareness) มั่นคงในปัจจุบันดีแล้ว และ ต้องการก้าวต่อสู่เป้าหมายในอนาคต ผู้ให้คำปรึกษาอาจส่งต่องานให้โค้ช (coach) เพื่อต่อยอดปัจจุบันสู่อนาคต เข้าสู่กระบวนการโค้ช (coaching) เพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนาตนเอง (self-development)

ในทางกลับกัน กรณีที่ ผู้รับคำปรึกษา ยังคงมีความทุกข์ไม่มั่นคงในปัจจุบัน สาเหตุจากปมลึกในวัยเด็ก (developmental trauma) ผู้ให้คำปรึกษาควรส่งต่องานให้นักบำบัด (therapist) กรณีคลี่คลายทุกข์ด้วยกระบวนการภายนอก หรือ ส่งต่องานให้นักเยียวยา (healer) กรณีคลี่คลายทุกข์ด้วยกระบวนการด้านใน บ่อยครั้ง นักบำบัด (therapist) และ ผู้เยียวยา (healer) ก็คือบุคคลคนเดียวกัน

และ สุดท้ายหากพบว่าสภาพทุกข์รุนแรง จนเรียกได้ว่าเป็นโรค ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาควบคู่ด้วย ก็ควรส่งต่อ (refer) ให้จิตแพทย์เป็นผู้ดูแล

แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทฤษฎีต่างๆ ร่วมกันได้ที่
ชุมชนนักปฏิบัติ CoP (Community of Practice)

จรรยาบรรณของการให้คำปรึกษา

  • ต้องรักษาความลับอย่างดีที่สุด
  • ต้องนับถือความเป็นหนึ่งของเขา และ ต้องพยายามช่วยเหลือให้เขาได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มความสามารถ
  • แสดงให้เห็นว่าสนใจเรื่องของเขาอย่างแท้จริง และ เชื่อถ้อยคำ หรือ ความคิดเขา
  • ไม่ใช้ข้อมูล หรือ เรื่องราวของเขาไปเผยแพร่ เว้นได้รับอนุญาต
  • ไม่เอาความคิดเห็น และ ทัศนคติของตัวเองไปตัดสินเขา
  • ไม่นินทา หรือ เปิดเผยความลับของคนอื่นในขณะให้คำปรึกษา

ข้อควรระวังในการให้คำปรึกษา

  • ผู้ให้คำปรึกษา ไม่ใช่พนักงานสอบสวน (detective) อย่าถามซักไซ้มากเกินไป
  • ผู้ให้คำปรึกษา ไม่ใช่นักมายากล (magician) อย่าเร่งรัดให้ปัญหาจบเร็วเกินจริง
  • ผู้ให้คำปรึกษา ไม่ใช่หัวหน้างาน (foreman) อย่าใช้งานท่วมทับ กดข่มปัญหา
  • ผู้ให้คำปรึกษา ไม่ใช่ผู้พิพากษา (judge) อย่าตัดสินถูกผิด โดยเฉพาะอดีตที่ผ่านมา
  • ผู้ให้คำปรึกษา ไม่ใช่พระในฮินดู (swami) อย่าทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

เปรียบเทียบบทบาทระหว่าง
ผู้ให้คำปรึกษา (counselor) และ โค้ช (coach)

ผู้ให้คำปรึกษามุ่งเน้นให้ผู้รับคำปรึกษาดำรงอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมั่นคง (self-awareness) ในขณะที่โค้ช จะมุ่งเน้นให้ผู้รับการโค้ช ค้นพบแนวทางสู่ชีวิตในอนาคตตามที่ต้องการ (self-development)

เปรียบเทียบบทบาทระหว่าง
ผู้ให้คำปรึกษา (counselor) และ ที่ปรึกษา (consultant)

ผู้ให้คำปรึกษา (counselor) ใช้ทักษะการฟัง (listening) และ การถาม (asking) มากกว่าการบอกสอน (telling) ในขณะที่ที่ปรึกษา (consultant) จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ให้คำปรึกษา มองเห็นปัญญาในปัญหา (problem) แนะนำแนวทางแก้ไข (solution) ที่ปรึกษาจึงใช้ทักษะการบอกสอน (telling) มากกว่าการฟัง (listening) และ การถาม (asking)

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments