การสื่อสารที่จริงแท้ : Authentic Communication

ความหมายโดยทั่วไปของคำว่า การสื่อสาร ได้แบ่งแยก ผู้ส่งสาร (sender) และ ผู้รับสาร (receiver) ออกจากกัน ในขณะที่การสื่อสารที่จริงแท้นั้น คือ การดำรงอยู่ร่วมกัน ทุกคนเป็นผู้ส่งสาร และ ทุกคนเป็นผู้รับสาร ในห้วงขณะเวลาเดียวกัน ในสถานการณ์ของการพูดคุย เมื่อผู้พูดดำรงอยู่กับผู้ฟังที่อยู่ตรงหน้า ผู้พูดจะสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังไปด้วย ผู้พูดจึงเป็นผู้รับสารอยู่ด้วยแม้ในขณะเวลาที่พูด ส่วนผู้ฟังแม้ไม่ได้พูด ก็แสดงออกอยู่ตลอดเวลาด้วยอวัจนภาษา (non-verbal) หรือ อารมณ์ความรู้สึก (feeling) หากผู้พูดสัมผัสถึงสิ่งเหล่านั้นได้ ผู้ฟังก็กำลังเป็นผู้ส่งสารถึงผู้พูดอยู่ด้วยเช่นกัน

การสื่อสารที่จริงแท้ (authentic communication) คือ การสร้างพื้นที่ว่างภายในจิตใจของผู้สื่อสาร ไม่กะเกณฑ์ให้การสื่อสารดำเนินไปตามทาง จนสรุปจบลงตามความคิดเห็นของตนเอง เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และ เกิดผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดได้ การเปิดใจกว้างจะส่งผลต่อบรรยากาศในการสื่อสาร เกิดพื้นที่ว่างแห่งความปลอดภัย ให้แต่ละคนกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนอันจริงแท้ออกมา ซึ่งจะช่วยขยับขยายความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น จัดวางความสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม เกิดความไว้วางใจต่อกัน เห็นคุณค่าของกันและกัน ให้เกียรติกัน ช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง และ เกิดบรรยากาศแห่งความสุขในการดำรงอยู่ร่วมกัน

การสื่อสารที่จริงแท้ (authentic communication) ประกอบด้วย

  1. การเชื่อมความสัมพันธ์ (connect and build rapport)
  2. การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening)
  3. ศิลปะแห่งการพูด (the art of speech)

การเชื่อมความสัมพันธ์ (connect and build rapport)

สิ่งสำคัญก่อนการเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่น เราต้องทำการเชื่อมต่อกับตัวเองก่อน นั่นคือการตระหนักรู้ในปัจจุบัน ผ่อนคลายให้จิตใจของเราโล่งเบาสบาย อาจใช้วิธีการตามรู้ลมหายใจเข้าออกสักครู่

?การเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ เริ่มต้นด้วยการมอบรอยยิ้ม ความสามารถในการจดจำชื่อของเพื่อนใหม่ แล้วเรียกเค้าด้วยชื่อของเค้า คือ หัวใจของการสร้างความประทับใจในการเริ่มต้น (first impression) การฟังยังคงจำเป็นมาก เข้าใจเขา เป็นอย่างที่เขาเป็น เราเขาเสมอกัน เป็นพวกเดียวกัน การเรียนรู้ และ แรงบันดาลใจต่างๆจะเกิดขึ้น การค้นหาด้านบวก (appreciative inquiry) ทักทายด้วยถ้อยคำที่เรียบง่าย แต่สร้างความประทับใจ จากใจจริงของเรา ช่วยให้เพื่อนใหม่รู้สึกโดดเด่นเป็นพิเศษ มีตัวตนปรากฏขึ้นมาตรงนั้นได้ ในขณะที่การใช้คำถามปลายเปิดจะช่วยขยายเรื่องราวในการสนทนาได้มากกว่าคำถามปลายปิด รวมถึงการตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน จะช่วยให้ภาษากายของเราแสดงทาทีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี และ ยังทำให้เราสามารถสร้างสรรค์บทสนทนาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ณ ขณะนั้น ได้อย่างมากมาย

?การเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้คนโดยทั่วไป เริ่มต้นด้วยการฟังอย่างตั้งใจ เพื่อค้นหาจุดร่วมในเรื่องราวเล็กๆ ที่จะส่งผลในแง่บวกต่อการขยายบทสนทนาต่อไป ระวังการตั้งคำถาม ที่ไปเร่งรัดคู่สนทนาราวกับว่า กำลังเล่นเกมจับผิดเค้าอยู่ ในช่วงเริ่มต้นของการสนทนา ความแตกต่างมากมายอาจเกิดขึ้น จนเหมือนว่า ชีวิตของเราและเค้าจะไม่มีจุดร่วมเล็กๆ ที่ตรงกันเลย แต่เชื่อเถอะว่าทุกสรรพสิ่งนั้นเชื่อมโยงถึงกันได้หมด ปล่อยให้บทสนทนาได้ใช้เวลา ไหลลื่นไปตามธรรมชาติ คอยเฝ้าสังเกต หมั่นชื่นชมอย่างจริงใจ อาจถามถึงบางสิ่งบางอย่าง ที่อ้างถึงในบทสนทนาหากเราสนใจ ให้ความสบายใจกับคู่สนทนาตรงหน้า เราอาจขับเคลื่อนบทสนทนาด้วยการทะยอยเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวของเราเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถสร้างสายสัมพันธ์ให้ต่อเนื่อง ด้วยการขอบคุณ และ บอกเล่าเรื่องราว ผ่านการสื่อสารในช่องทางต่างๆ เพิ่มเติมได้ในภายหลัง และ หัวใจสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์กับผู้คนก็คือ การดำรงอยู่ในปัจจุบัน ใส่ใจกับเรื่องราวที่เป็นปัจจุบันจริงๆ

หลักสูตร สำหรับองค์กร


การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening)

?การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) คือ ความสามารถในการฟังความเงียบ (silent) ด้วยความรู้สึกว่า “เรานั่นเองเป็นส่วนหนึ่งของความเงียบ” ไม่รู้สึกว่าอึดอัด จึงไม่ต้องรีบร้อนที่จะเร่งทำลายความเงียบให้หายไป ด้วยความกลัวจากภายในของเราเอง ตัวอักษรของคำว่า ความเงียบในภาษาอังกฤษ “silent” เมื่อจัดเรียงตัวใหม่ก็จะคือคำว่าการฟัง “listen” นั่นเอง เมื่อเราดำรงอยู่กับความเงียบ (silent) ได้อย่างมั่นคงจนเป็นดั่งกันและกัน (inter-being) เราก็จะสามารถฟัง (listen) อย่างลึกซึ้ง ได้ยินเสียงต่างๆ ครบทั้ง 3 มิติ ได้แก่

  • มิติที่ 1 เสียงที่ได้ยิน คือ การจับประเด็นจากเสียงของผู้พูดที่เราได้ยิน สามารถร้อยเรียงถ้อยคำสำคัญเป็นประเด็นหลักๆ และต่อเติมประเด็นหลักๆ เป็นเรื่องราวทั้งหมดที่ได้ยินได้ โดยไม่ผสมโรงเข้ากับความคิดเห็นส่วนตัว หรือ ทฤษฎีเก่าที่เราเคยรู้มาก่อน
  • มิติที่ 2 เสียงที่ไม่ได้ยิน คือ การออกจากมุมมองของตัวเอง ใส่ใจเข้าไปถึงความรู้สึกของผู้พูด แต่ไม่จมลงไปในอารมณ์นั้น สามารถรับรู้ถึงความเชื่อ และ คุณค่าที่ผู้ฟังยืดถือในการดำรงอยู่ รวมถึงความเปราะบาง (trauma) ของผู้พูดในบางถ้อยคำ จากบางเรื่องราวได้
  • มิติที่ 3 เสียงภายในตัวเอง คือ ตระหนักรู้ในตัวเอง คอยสังเกตเสียงภายในต่างๆ เช่น คำตัดสิน คำวิพากษ์วิจารณ์ เรียนรู้จัดการปฏิกิริยาที่เกิดจากเสียงภายในของตัวเอง เสียงเล็กๆเหล่านั้น เกิดจากความคิด ความเชื่อ และ คุณค่าที่เรายึดถืออยู่นั่นเอง งานของเราก็คือ การปล่อยวางเสียงเหล่านั้น แล้วเปิดใจรับฟังเรื่องราวของผู้พูดที่อยู่ตรงหน้าอย่างสดใหม่ และ ตอบรับอย่างเป็นปัจจุบันขณะ (beginner’s mind) โดยไม่เข้าไปครอบครองบรรยากาศในการสนทนาไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่บังคับทิศทางเพื่อนำไปสู่บทสรุปของการสนทนาตามใจตน
ขณะฟัง ไม่ตัดสิน ไม่แทรกขัด
ก่อนเริ่มพูด หายใจชัด มีสติ
ขณะพูด มีเมตตา กลั่นวจี
พูดไปแล้ว ร่วมยินดี ที่ปัจจุบัน

?การฟังที่ลึกซึ้งขึ้นไป เป็นคำสอนจากหมู่บ้านพลัม เรียกว่า การฟังอย่างกรุณา (compassionate listening) คือ ความสามารถในการฟังที่นานพอ ฟังไปจนสัมผัสเห็นถึงความทุกข์ของผู้พูด เป็นการฟังเพื่อให้ผู้พูดได้สิทธิ์ในการพูดอย่างเต็มเปี่ยม ฟังโดยไม่สนใจว่าเสียงนั้นจะถูกต้องหรือผิดพลาด เมื่อเราฟังได้นานพอ เราจะสัมสัมผัสได้ถึงความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูด เมื่อเราฟังได้นานพอ ผู้พูดจะเล่าเรื่องราวเชิงลึกของตนเอง รวมถึงเรื่องราวที่แม้แต่ผู้พูดเองก็ไม่เคยนึกถึงมาก่อน การฝึกฝนสติ (mindfulness) ร่วมกับการฟังจะทำให้เราฟังได้นานเป็นวันๆ ฟังได้นานเป็นเดือนๆ หรือ ฟังได้นานเป็นปี โดยที่ไม่รีบร้อนพูดบางสิ่งบางอย่าง เราสามารถที่จะรอคอยจนกว่า จะถึงเวลาที่เหมาะสมจริงๆ ที่ถ้อยคำของเราจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ฟังได้อย่างแท้จริง จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน พบว่าหากเราฝึกฝนสติ ร่วมกับการฟัง สภาวะหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา ก็คือ สภาวะการรับรู้เสียงแบบที่ไร้ตัวตน (bodilessness state)

ศิลปะแห่งการพูด (the art of speech)

? การพูดร้องขอ

ให้พูดจากความรู้สึกจริงๆ แทนการพูดจากความคิด อาจบอกเล่าประสบการณ์ตรง แทนการพูดถึงทฤษฎี อาจพูดถึงความรู้สึกของเราต่อเรื่องราวที่เล่าด้วย เพื่อเชื่อมต่อหัวใจของเรากลับเข้าสู่ประสบการณ์ตรงอีกครั้ง ในขณะที่พูดอยู่ให้ใส่ใจถึงความรู้สึกของผู้ฟังที่อยู่ตรงหน้าด้วย เฝ้าสังเกต แต่ไม่ตีความ ในการพูดร้องขอต้องระวังการเผลอใช้ประโยคคำสั่ง ในการบอกความต้องการไม่จำเป็นต้องรีบร้อนบอกถึงวิธีการ

?การพูดบรรยาย

พูดไล่เรียงตามคำสำคัญ (keyword) ที่เรียบเรียงไว้ล่วงหน้า เราอาจใช้เวลาพูดซ้ำในประเด็นที่สำคัญๆ ด้วยมุมมองใหม่ๆ หรือ ขยายความเพิ่มเติม ในตอนท้ายของการพูด เราควรสรุปเรื่องราวอย่างกระชับอีกครั้ง และอาจทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำที่สร้างสรรค์ เกิดประโยชน์โดยรวม หรือ สร้างความท้าทายสำหรับก้าวต่อไป

?การพูดคุยในวงสนทนาทั่วไป

เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์นั้น เราไม่จำเป็นต้องพูดจนจบครบทุกบททุกตอนอย่างสมบูรณ์ การเปิดพื้นที่ให้ผู้ฟังได้เข้ามาประติดประต่อเรื่องราว จะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกว่า การพูดสรุปคนเดียวแบบม้วนเดียวจบ สิ่งที่ท้าทายภายหลังการพูดของเรา ก็คือ เสียงสะท้อนจากผู้ฟังที่อาจกระทบใจเรา การไม่คาดหวังในสิ่งที่พูดไปว่าจะสมบูรณ์ จะช่วยผ่อนคลายแรงต้านภายในของเราได้ อย่าลืมว่าความสัมพันธ์อันดีจะช่วยให้เราสามารถกลับมาสื่อสารต่อกันได้ต่อไป การปล่อยวางผลลัพธ์จากการพูดของตัวเองจึงมีส่วนช่วยสานความสัมพันธ์

?การพูดคุยในวงสุนทรียสนทนา (dialogue)

เน้นสภาวะที่ผ่อนคลาย ปลอดภัย เราจะให้ความสำคัญกับการฟัง โดยฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ละวางภาพลักษณ์ อำนาจ การครอบงำ ห้อยแขวนสมมติฐาน การตัดสิน (suspending) เท่าทันกรอบความคิดที่เชื่อว่าจริง เคารพ เปิดพื้นที่ ไม่ก้าวก่าย (respecting) ตระหนักต่อการเข้าถึงได้ไม่หมด ไม่ยึดมั่นในการรับรู้ ตระหนักต่อจุดยืนอื่น เปิดเผยเสียงภายใน ปิ๊งแว๊บ แบบฉับพลันจากญาณทัศนะ แบบสดๆ (voicing) โดยการนำพาเข้าสู่วงสุนทรียสนทนา (dialogue) อาจผ่านสภาวะ “รวมแล้วแยก แยกแล้วรวม” แบ่งเป็น 4 ระดับ

  • ระดับแรก เป็นการเริ่มต้นล้อมวง รวมตัว เริ่มต้นแนะนำตัวที่เป็นเปลือกนอก แบ่งปันความคิดเห็นในแบบสุภาพ เกรงใจ คำนึงถึงเสียงวิจารณ์ภายนอก
  • ระดับที่สอง เริ่มแยกตัวเองจากองค์รวม มีความคิดเห็นเป็นตัวของตัวเอง แสดงจุดยืน เลือกข้างตามเหตุผล ชุดข้อมูล ความคิด ที่เคยมีมาก่อน
  • ระดับที่สาม เริ่มกลับมาสำรวจตนเอง ได้ยินเสียงภายใน มีการชั่งใจ ตั้งคำถาม สืบค้น สะท้อนจากเสียงภายในของตัวเอง
  • ระดับที่สี่ เริ่มเชื่อมโยงเห็นองค์รวม เกิดบทสนทนาที่ไหลเลื่อน (generative dialogue) เกิดปัญญากลุ่ม (collective intelligence) ที่สั่งสม เกื้อหนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แม้เพียงคิดในใจ ความคิดนั้นก็ล่วงรู้ถึงกันได้ ถ่ายทอดถึงกันได้ เคลื่อนไหวถึงกันได้ ผ่านสนามแห่งปัญญา

?นอกจากนี้ การสื่อสารที่จริงแท้ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะตรวจจับและคลี่คลาย สัญญาณการต่อต้าน (double signal) ภายในตัวเองและผู้อื่น รวมถึงสามารถรันกระบวนการกลุ่ม (group facilitation) เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนนักปฏิบัติ (community of practice) ในองค์กรของตนได้

หลักสูตร สำหรับองค์กร

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments