ก้าวเผชิญความไม่คุ้นเคย : Expand Your Comfort Zone

คุณสมบัติหนึ่งที่ผู้บริหารมีคือ การเข้าใจคนที่ทำงานอยู่ในหลายๆ ตำแหน่ง และก็จะช่วยได้มากหากเราเคยมีประสบการณ์ทำงานในหลายๆ ตำแหน่งมาก่อน หรือ ได้มีโอกาสพูดคุยสนิทสนมกับคนในหลายๆ ตำแหน่ง หลายๆ ฝ่าย หลายๆ วัย

การฝึกที่จะเผชิญความไม่คุ้นเคย ก็คือ การฝึกทำงานในตำแหน่งใหม่ๆ การพูดคุยกับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ สิ่งที่เราต้องการในการเผชิญความไม่คุ้นเคยก็คือ การออกนอกความคุ้นเคย (Comfort Zone) ในระดับที่พอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปจนเกิดอาการตื่นตระหนก (Panic Zone) การค่อยๆ ขยับจากความคุ้นเคยออกมา สู่การทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยที่ละนิด รู้สึกท้าทาย ในขณะที่ก็สามารถที่จะปล่อยวางจากผลลัพธ์ว่าจะต้องออกมาดูเก่ง ดูดี ดูฉลาด ดูถูกต้อง อย่างที่เราทำในสิ่งที่ถนัด เรียกพื้นที่ความท้าทาย ที่รู้สึกสบายใจเช่นนี้ว่า พื้นที่แห่งการเรียนรู้ (Learning Zone)

เป้าหมายของการก้าวเผชิญความไม่คุ้นเคย ก็คือ การขยายศักยภาพใหม่ๆ ให้กับชีวิต ด้วยการสังเกตอาการอึดอัดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เป็นไปอย่างใจ อาจมีเสียงเล็กๆ ภายในของเราเอง (Inner Voice) ที่คอยให้เหตุผลต่างๆ นานา เพื่อให้เราย้อนกลับไปทำแบบเดิมๆ กลับไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอย่างเก่า เมื่อเราเท่าทันเสียงต้านทานภายในของเราเอง ปล่อยผ่านอาการยื้อยุดฉุดรั้ง ค่อยๆ สำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย (Unknown Area) ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย สบายๆ ศักยภาพใหม่ๆ ของเรา ก็จะถูกเปิดเผยออกมา

ก่อนจะการก้าวเผชิญความไม่คุ้นเคย เราจำเป็นต้องก้าวออกจากโหมดฟอร์มตกไปสู่โหมดท็อปฟอร์มให้ได้ก่อน มีทฤษฎีหนึ่งจากหนังสือ “On Death and Dying” ที่เขียนโดย Elisabeth Kübler-Ross ในปี ค.ศ. 1969 พบว่าเมื่อผู้ป่วยทราบผลการวินิจฉัยโรคที่ไม่เป็นไปอย่างใจ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ป่วยจะมีสภาวะทางอารมณ์เกิดขึ้น 5 ขั้นตอน เรียกว่า “DABDA Model” ได้แก่  Denial, Anger, Bargaining, Depression และ Acceptance

  1. การปฏิเสธ (Denial)
  2. การโกรธ (Anger)
  3. การต่อรอง (Bargaining)
  4. ความหดหู่ (Depression)
  5. การยอมรับ (Acceptance)

การทราบผลวินิจฉัยโรคที่ไม่เป็นไปอย่างใจ มีลักษณะคล้ายกับการก้าวเผชิญความไม่คุ้นเคยตรงที่ เราไม่อาจควบคุมเหตุปัจจัยภายนอกได้อีกต่อไป ทั้งที่ยังอยากจะควบคุมให้ได้อยู่เหมือนอย่างเก่า อยากจะดูเก่ง อยากจะดูดี อยากจะดูฉลาด อยากจะดูถูกต้อง เหมือนกับได้ทำในสิ่งที่ถนัด แต่เมื่อความถนัดไม่มีอยู่ให้ยึดเกาะได้อีกแล้ว ในเบื้องต้น การพยายามปฏิเสธ (Denial) จึงเกิดขึ้น จากนั้นก็อาจจะแสดงอาการต้อต้าน บิดเบือนเนื่องด้วยไม่กล้าเข้าเผชิญความไม่คุ้นเคย จนอาจถึงขั้นที่แสดงท่าทีโกรธเคือง (Anger) หาสิ่งที่ผิดจากภายนอกตัว จากนั้น จะเริ่มตั้งเงื่อนไข เริ่มต่อรอง (Bargaining) เผชิญความไม่คุ้นเคยก็ได้ แต่ขอมีข้อแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง จากนั้นจึงเข้าสู่สภาวะใคร่ครวญ นิ่งเงียบไป อาจกลายเป็นความหดหู่ใจ (Depression) จนเมื่อยอมรับได้ (Acceptance) ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวออกจากโหมดฟอร์มตกไปสู่โหมดท็อปฟอร์ม

สิ่งที่จะสนับสนุนให้เราสามารถเผชิญความไม่คุ้นเคยได้อย่างสบายใจขึ้นก็คือ การมีพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ที่เต็มไปด้วยผู้คน และ บรรยากาศแห่งความไว้วางใจ (Trust) ซึ่งเกิดจากการฟังกันได้มากพอ (Listening) ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน (Respecting) และ ทอดเวลาไม่ด่วนสรุปสิ่งที่เกิดขึ้น (Suspending) ทุกคนสามารถพูดด้วยเสียงจากภายในใจของตัวเองได้อย่างแท้จริง (Voicing) เราสามารถอธิบายพื้นที่แห่งความไว้วางใจ (Level of Trust) ได้ผ่าน “TORI Model” แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังต่อไปนี้

พื้นที่แห่งความไว้วางใจ (Level of Trust)

1. TRUST

ความไว้วางใจ (Trust) เป็นอย่างฉันเป็น (Being who I am) เปลี่ยนจากการแสดงออกตามบทบาทหน้าที่ กลายเป็นการแสดงออกอย่างเป็นส่วนตัว รวมถึงเกิดการยอมรับในตัวผู้อื่นเช่นกัน “ในฐานะสมาชิกกลุ่ม ฉันไว้วางใจในตัวเองว่าจะดำรงอยู่ มีเอกลักษณ์ และ รู้สึกดีต่อตัวเองที่อยู่ในกลุ่ม กลุ่มมีบรรยากาศที่ดีต่อฉันและสมาชิกทุกคน”

2. OPENNESS

การเปิดใจรับ (Openness) แสดงออกอย่างที่ฉันเป็น (Showing who I am) เปลี่ยนจากการปกปิด การทำตามแผนกลยุทธ์ กลายมาเป็นการเปิดเผยอย่างอิสระ สามารถเปิดใจรับข้อเสนอแนะระหว่างกันได้ “ในฐานะสมาชิกกลุ่ม ฉันรู้สึกว่าตัวเองได้เป็นอิสระ ได้แสดงออกในสิ่งที่ฉันเป็น สามารถแสดงความรู้สึก และ ทัศนคติของฉันได้ กลุ่งมีบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนพร้อมที่จะแสดงออก”

3. REALIZATION

การเห็นจริง (Realization) ทำในสิ่งที่ฉันต้องการ (Doing what I want) ปล่อยวางจากการกะเกณฑ์สิ่งอื่นภายนอก มาเป็นการกำหนดชีวิตตัวเอง มีเป้าหมายที่เป็นฉันทามติ ทุกคนมีส่วนร่วม และ ขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางแห่งเป้าหมายนั้น “ในฐานะสมาชิกกลุ่ม ฉันรู้สึกกล้าที่จะเสี่ยง ท้าทายตัวเอง และ กล้าทำในสิ่งที่ฉันต้องการ ฉันสัมผัสได้ถึงการมองเห็นตัวเอง กลุ่มมีบรรยากาศที่เป็นอิสระ สร้างสรรค์ นำไปสู่การผุดขึ้น (Emergent) ของสภาวะที่ไร้อัตตา และ เป้าหมายที่แท้จริง

4. INTERDEPENDENCE

การพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) อยู่ร่วมกับผู้อื่น (Being with others) เปลี่ยนจากการเป็นเอกเทศ มาสู่การสอดประสานเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันทั้งภายในกลุ่ม ระหว่างกลุ่ม และ ระบบสังคมทั้งหมด กลุ่มมีการทำงานที่ราบรื่น เกิดการบูรณาการได้อย่างดี ในทุกระดับ และ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน

หัวใจของการก้าวเผชิญความไม่คุ้นเคย คือ การมีความกรุณากับตัวเอง (Self-compassion) จะทำให้เราเข้าใจในความไม่สมบูรณ์แบบในธรรมชาติของตนเองและผู้อื่น เข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่ง ไม่จำเป็นต้องดี ไม่จำเป็นต้องถูก ไม่จำเป็นต้องดูฉลาด เสมอไปก็ได้ ความกล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้น ถึงแม้ไม่เป็นไปอย่างใจก็ก้าวเดินต่อไป ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นไปอย่างใจได้เร็ว เมื่อยอมรับได้เร็ว ก็เริ่มต้นใหม่ได้เร็ว หมายความว่า เมื่อยอมรับได้ การเผชิญความจริงตรงหน้าจึงเกิดขึ้น การเริ่มต้นใหม่จึงเกิดขึ้น คือ ธรรมชาติของการละทิ้งอดีตได้ และ อยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยมจึงเกิดขึ้น การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นในขณะเดียวกันนี้ มีปัญญาที่ซ่อนอยู่ในความไม่รู้ เมื่อเราทำการทบทวนเข้าไปภายในจิตใจของตัวเองอย่างซื่อตรง (Self-Integrity) เมื่อเราย้อนมองดูตัวเอง ลดการตัดสินหรือหาคนผิดนอกตัว เมื่อต้องเผชิญความไม่คุ้นเคย ให้เราลดความฉลาดทางเหตุผลลงบ้าง แล้วเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) เมื่อไม่มีการตัดสิน บรรยากาศแห่งความไว้วางใจก็จะเพิ่มขึ้น การเรียนรู้ของตัวเราเอง และ ของกลุ่มก็จะเพิ่มขึ้นด้วยครับ

และนี่ก็คือ ก้าวที่ 2 ใน…
9 แก่นสารสำคัญ สำหรับผู้บริหารใหม่
The 9 Essences for New Executive

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments