กุศโลบายคลายทุกข์ : no mud no lotus

“ชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่มันก็ยังประกอบด้วยสิ่งอัศจรรย์มากมาย หากเธอปรารถนาที่จะสัมผัสกับความอัศจรรย์แห่งชีวิต จงกลับมาสู่ปัจจุบันขณะ – Thich Nhat Hanh” 

no mud no lotusความสุขอันอัศจรรย์นั้นมีอยู่แล้ว ในโลกแห่งปัจจุบันขณะ เพียงแต่ความคิดของเรา ทำให้เราติดอยู่ในโลกแห่งอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือไม่ ก็ล่องลอยไปในโลกแห่งอนาคต ดูผิวเผินเหมือนว่าความคิดนำพาเราไป แต่แท้จริงแล้วตัวเรานั่นเองที่กระโจนลงสู่กระแสแห่งความคิด กีดกันไม่ปล่อยให้กระแสความคิดได้ไหลผ่านไป และ ความคิดนี่เองที่นำมาสู่ความทุกข์ในชีวิตประจำวันของเรา ผู้เขียนจึงขอเสนอ “กุศโลบายคลายทุกข์” ตามเหตุแห่งทุกข์ (the cause of suffering) ได้แก่

  1. ความอยาก (craving)
  2. ความยึด (attachment)
  3. ภาวะชีวิต (becoming)

กุศโลบายคลายทุกข์ คือ การเข้าไปทราบถึงเหตุแห่งความทุกข์ แล้วเลือกใช้กุศโลบายที่เหมาะสม เพื่อนำพาชีวิตให้กลับคืนสู่สมดุล เกิดความรู้สึกที่โล่งสบาย เป็นอิสระจากความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์ งานเขียนนี้ นอกจากจะนำเสนอกุศโลบายคลายทุกข์เป็นแนวคิดสั้นๆ ยังขยายความด้วยกระบวนการสำหรับงานกระบวนกรด้วย รายละเอียด ดังต่อไปนี้เลย

1. ทุกข์เพราะอยาก (craving)

เรื่องราวความทุกข์ที่พัวพันกับสิ่งภายนอก ประมาณว่าอยากได้มาแต่ยังไม่ได้ อยากผลักไสออกไปแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ทำให้เกิดเป็นความคิดฟุ้งซ่าน สับสน ไร้ทิศทางที่ชัดเจน ศักยภาพความคิดอ่อนกำลัง กระบวนการด้านเหตุผลอ่อนกำลัง ทำให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ควานหาเป้าหมายไม่เจอ แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ไม่รู้ข้อดีของตัวเอง เป้าหมายไม่ชัดเจน เหมือนเรือน้อยล่องลอยกลางทะเลที่ต้องการถึงฝั่ง

ความเครียด = ความอยาก / ความสามารถ

ความทุกข์ชนิดนี้ นำมาซึ่งความเครียด โดยเกิดขึ้นเพราะมีความอยาก (craving) หรือ ความต้องการในสิ่งหนึ่งมาก ในขณะที่ความสามารถ (ability) ที่จะทำให้ได้มานั้นยังมีอยู่น้อยเกินไป วิธีกำจัดความเครียดชนิดนี้ก็คือ การลดความอยากให้น้อยลง หรือไม่ก็เพิ่มความสามารถแล้วทำสิ่งที่ต้องการให้สำเร็จ ข้อควรระวังก็คือ ความอยากของมนุษย์นั้นไม่เคยพอ และ เวลาของมนุษย์นั้นมีอยู่อย่างจำกัด การบริหารจัดการเวลา จึงมีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการความเครียด เช่นกัน

ในขณะที่ ความอยากที่พอดิบพอดี ที่ช่วยขับเคลื่อนชีวิตให้เกิดความสำเร็จ ไปในทางเจริญรุ่งเรือง เรียกว่า ความอยากใฝ่ดี หรือ ฉันทะ สิ่งที่จะเปลี่ยนความอยากที่ขาดคุณภาพ เป็นความอยากที่ใฝ่ดี เปลี่ยนความเครียด เป็นความท้าทาย ก็คือ การมีมุมมองที่ถูกต้อง หรือ ปัญญา

กุศโลบายคลายทุกข์ ที่เกิดจากความอยาก (craving)

“พัฒนาปัญญาฐานคิด สร้างสรรค์ชีวิตสู่เป้าหมาย”

  • กระบวนกร สัมภาษณ์ผู้เรียนรู้ หรือ รันกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบลักษณะบุคลิกภาพ (personality) ที่โดดเด่นของตัวเอง กระบวนกรอาจช่วยให้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติม (consulting) หรือ โค้ช เพื่อให้ผู้เรียนรู้ สามารถเชื่อมโยงจุดเด่นของตัวเอง สู่เป้าหมายของชีวิตในอนาคตได้ (Trait-Factor Theory by Cattell, Spearman and Thurstone)
  • กระบวนกร เป็นผู้สอน แนะนำ ยกตัวอย่าง (training) เพื่อให้ผู้เรียนรู้เกิดความกระจ่างในเหตุผลของชีวิต และ บริบททางสังคม สามารถเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงด้วยเหตุผล และ ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ (Rational Emotional Therapy by Albert Ellis)

ืno mud no lotus2. ทุกข์เพราะยึด (attachment)

เรื่องราวความทุกข์ที่เกิดจากการยึดโยงบางสิ่งบางอย่างเป็นตัวของตัวเองจนแยกขาดจากกันไม่ได้ ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว ยิ่งยึดยิ่งต้องรักษา ปลุกสัญชาตญาณการเอาตัวรอด แบ่งแยกตัวตนออกจากธรรมชาติแวดล้อม ความสัมพันธ์อ่อนกำลัง อยู่ไปวันๆ ตามยถากรรม (defensive mechanisms) ไม่รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น (flight) มักยกเหตุผลเพื่อแก้ตัวอยู่เสมอ ออกอาการปกป้องต่อสู้ (fight) เพื่อสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นอย่างเอาเป็นเอาตาย เมื่ออารมณ์ความรู้สึกเหือดแห้งจนถึงจุดหนึ่ง จะเบื่อหน่ายต่อชีวิต แน่นิ่ง (freeze) เฉื่อยชา ขาดความหวัง ไม่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง กลายเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น ไม่อยู่กับปัจจุบัน ชอบพูดถึงเรื่องราวในอดีตที่ภูมิใจ หรือ อนาคตที่ไม่สัมพันธ์กับปัจจุบัน ความยึด (attachment) ประกอบขึ้นจากความอยาก (craving) แบ่งได้ 4 มิติ ดังนี้

  • มิติที่ 1 ยึดในเรื่องพื้นฐาน (sensual attachment)
    ยึดในสิ่งที่มากระตุ้นสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัสทางกาย เช่น ความรู้สึกชื่นชอบในบางสิ่งบางอย่างที่สูงมากถึงขั้นไร้เหตุผล (irrational wishes) จนขาดไม่ได้ หรือ ความต้องการทางเพศ ที่มากเกินขอบเขตปกติทั่วไป (unacceptable sexual desires) เป็นต้น
  • มิติที่ 2 ยึดในมุมมอง (view attachment)
    ยึดในมุมมองความคิดเห็นของตนเอง ไม่เปิดใจฟังความคิดเห็นของใคร ต้องใช้ความพยายามสูงกว่าปกติทั่วไป ในการคลี่คลายปมความขัดแย้ง เพื่อพัฒนาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • มิติที่ 3 ยึดในกฏ (rule attachment)
    ปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบ มากกว่า การคำนึงถึงผลด้านมนุษยธรรม ปกป้อง ดุดัน อันเกิดมาจากสัญชาตญาณความกลัว (fear) เช่น กลัวสูญเสียตำแหน่งที่ยึดอยู่ ขาดการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกผู้อื่น
  • มิติที่ 4 ยึดในการแบ่งแยก (separation attachment)
    เกิดจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอด แบ่งแยกตัวตนออกจากผู้อื่น แบ่งแยกกลุ่มเผ่าพันธุ์มนุษย์ สิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อมออกจากกัน ขับเคลื่อนการมีตัวตน ด้วยสัญชาตญาณความเห็นแก่ตัว (selfish needs)

กุศโลบายคลายทุกข์ ที่เกิดจากความยึด (attachment)

“พัฒนาปัญญาฐานใจ ให้คุณค่าความสัมพันธ์”

  • กระบวนกร สร้างสถานการณ์การเรียนรู้ (role playing) ดำเนินบทตามกระบวนการ การเริ่มต้นใหม่ (Beginning Anew by Plum Village) นำพาผู้เรียนให้กลับสู่ปัจจุบันขณะ บรรยายขยายความ ให้เข้าถึงจิตใจผู้เรียน จนผู้เรียนสามารถมองเห็นภาพกว้างของชีวิต ไม่ผูกเรื่องราวในปัจจุบันกับความรู้สึกที่ยากลำบากในอดีต ทำให้ผู้เรียนกล้าเผชิญ (confrontation) ปลดปล่อยสิ่งสำคัญที่ติดค้าง (unfinished business) ให้จิตใจโล่งเบา ดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะได้อย่างแท้จริง (Gestalt Therapy by Frederick S. Pearls)
  • กระบวนกร ใช้ทักษะการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ (connect and build rapport) และ การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ยอมรับสภาพของผู้เรียนอย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional acceptance) ใช้กระบวนการโค้ช (coaching) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักรู้ในตัวตน (self-concept) ซึ่งประกอบด้วย ตัวตนที่เป็นจริง (real self), ตัวตนที่รับรู้ (perceive self) และ ตัวตนที่อยากเป็น (ideal self) (Client Center Therapy by Carl R. Rogers)
  • กระบวนกร ใช้ทักษะการโค้ช (coaching) เพื่อนำพาผู้เรียน ให้ค้บพบความหมายของการมีชีวิต (the meaning of life) สร้างชีวิตให้มีชีวา เป็นชีวิตที่มีคุณค่า ค้นพบเป้าหมาย (purpose) เข้าถึงชีวิตที่มีอิสระในการให้ (give) การรับ (take) และ การเลือก (choose) (Existentialism Theory by Viktor E. Frank)
  • กระบวนการ ใช้ทักษะการโค้ช (coaching) เพื่อนำพาให้ผู้เรียนตระหนักรู้ (self-awareness) ในบทบาทต่างๆ ของชีวิต ค้บพบภาวะแทรกแซง จากการยึดบทบาทหนึ่งสู่อีกบทบาทหนึ่งในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น การนำบทบาทในที่ทำงาน มาใช้ทับซ้อนบทบาทในความครอบครัว เป็นต้น กระบวนกรนำพาให้ผู้เรียนรู้ เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และ ผู้อื่น (I am OK, you are OK.) (Transactional Analysis by Eric Berne)

the dependent origination

3. ทุกข์เพราะภาวะชีวิต (becoming)

ทุกข์เพราะภาวะชีวิต (becoming) คือ การหวนคืนของภาวะชีวิตในอดีตที่เป็นทุกข์ หรือ ปมชีวิตในวัยเด็ก (developmental trauma) สังเกตพบความทุกข์ชนิดนี้ได้จากภาษากายที่สั่นไหว เมื่อมีการพูดถึง หรือ ได้ยินถ้อยคำบางถ้อยคำที่เกี่ยวโยงกับเรื่องราวที่อ่อนไหวในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถประติดประต่อลำดับเหตุการณ์ได้จริงตามช่วงเวลา หรือ อาจเป็นเรื่องที่หลงลืมไปแล้ว แต่เมื่อถูกกระตุ้นจากบางสถานการณ์ จะทำให้ภาวะชีวิตในช่วงเวลาเหล่านั้น หวนคืนกลับมาปั่นป่วนโลกแห่งปัจจุบันอย่างไม่รู้ตัว ภาวะชีวิต (becoming) ประกอบขึ้นจากทั้งความอยาก (craving) และ ความยึด (attachment) ทำให้ไม่เห็นสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริง เสมือนโลกปัจจุบันหายไปชั่วขณะ เข้าสู่มิติที่ทำให้ความมั่นคงภายในอ่อนกำลัง ทำให้ชีวิตไม่สามารถดำรงบทบาท หรือ เผชิญกับสถานการณ์บางอย่างได้อย่างมั่นคง

กุศโลบายคลายทุกข์ ที่เกิดจากภาวะชีวิต (becoming)

“พัฒนาปัญญาฐานกาย เพิ่มความมั่นคงภายใน”

  • กระบวนการดำรงบทบาทเป็นสวนปลดปล่อย (release garden) โอบรับสลายผลแห่งความสั่นไหว (vibration) ของผู้เรียน เพื่อไม่ให้ส่งต่อไปยังผู้ใดอีก นำพาให้ผู้เรียนให้เกิดความมั่นคงภายใน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการแยกตัวตน (unblended) ต่างๆ ของผู้เรียนออกมาแบบชั่วคราว เพื่อให้เข้าถึงสภาวะแห่งพุทธะ (Self) พบเด็กน้อย ในรอยต่อระหว่างมิติของจิตสำนึก และ จิตไร้สำนึก (active imagination) เพื่อปรับสภาวะของเด็กน้อยให้ดีขึ้น ณ ห้วงขณะเวลานั้น กระบวนกร และ ผู้เรียน จะต้องอยู่ในสภาวะแห่งพุทธะ ที่ทรงอารมณ์พรหมวิหาร หรือ ประกอบอยู่ด้วยสภาวะที่สมดุลระหว่างความรัก และ ปัญญา (Internal Family System  by Richard Schwartz)
  • กระบวนกร ให้กำลังใจ ชื่นชม ยกย่อง เสริมแรงทางบวก (positive reinforcement) เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แนะให้ผู้เรียนรู้ดำรงอยู่ใกล้ชิดบุคคล และ สภาพแวดล้อม (social modeling) ที่จะช่วยส่งเสริมเกื้อหนุน ให้ชีวิตมีความเจริญตามเป้าหมาย กระบวนกรช่วยสร้างพันธสัญญา และ คอยติดตามผลเป็นกำลังใจให้ผู้เรียน (Behavioral Counseling by Wolpe, Salter, Dollard and Miller)
  • กระบวนกร จัดกระบวนการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์ (experiential learning) เพื่อให้ผู้เรียนรู้ เกิดการยอมรับความเป็นจริงตามธรรมชาติ กล้าเผชิญความจริง (confrontation) ที่ไม่สมบูรณ์แบบในทัศนคติที่ดี สามารถเป็นตัวของตัวเอง กล้าตัดสินใจ และ รับผิดชอบชีวิตได้ด้วยตัวเอง (Reality Theory by William Glasser)

no mud no lotus

“ดอกบัวดำรงอยู่ไม่ได้หากปราศจากโคลนตม เช่นเดียวกับ ความสุขเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความทุกข์ มองอย่างลึกซึ้งเข้าไปในความทุกข์ เราจะเกิดความเข้าใจต่อความทุกข์นั้น ซึ่งทำให้ความสุขมีโอกาสผลิบานออก ดังนั้น ดอกบัว ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธโคลนตม และ ความงามของดอกบัว ได้มอบคุณค่าแก่โคลนตมอย่างแท้จริง  – Thich Nhat Hanh”

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments