ความรู้สึกปลอดภัย 4 ระดับ: The 4 Stages of Psychological Safety

ตีโมตี คลาร์ก (Clark, T. R., 2020) ได้เสนอว่าความรู้สึกปลอดภัย (Psychological Safety) ประกอบด้วย 4 ระดับ ได้แก่ ความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง (Inclusion Safety), รู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้ (Learner Safety), รู้สึกปลอดภัยที่จะลงมือทำ (Contributor Safety), รู้สึกปลอดภัยที่จะท้าทายสถานภาพที่เป็นอยู่ (Challenger Safety) และในที่นี้ผมจะขอเสนอความรู้สึกปลอดภัยในระดับที่ 5 ที่เป็นความรู้สึกปลอดภัยจากการเป็นหนึ่งเดียวกัน (Oneness Safety) โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

ระดับที่ 1: ความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง (Inclusion Safety)

ทุกคนล้วนต้องการได้รับการยอมรับ ถ้าคุณได้รับสถานภาพการเป็นสมาชิกจากกลุ่มใด คุณจะพัฒนาความรู้สึกแห่งอัตลักษณ์ร่วมกัน (Shared identity) เกิดความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง (Inclusion Safety) รู้สึกมีความสำคัญและสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในกลุ่มได้ ในทางตรงข้าม ถ้าคุณถูกใครเพิกเฉย ละเลย นิ่งเงียบ บอกปัด ไล่ตะเพิด หรือทำให้อับอาย ไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ศูนย์ความเจ็บปวดของสมอง (The pain centers of the brain) จะถูกเปิดใช้งานและกระตุ้นสัญชาตญาณการควบคุมตนเอง (Self-censoring instinct) มาปิดกั้นศักยภาพของตนเอง

การมอบความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง (Inclusion Safety) ให้กับผู้อื่น เป็นสิ่งจำเป็นทางศีลธรรม อันที่จริง เป็นความรับผิดชอบของคุณทุกคนในการมอบความรู้สึกปลอดภัยเช่นนี้ให้กับผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่าง แต่คุณจะยอมรับในความเป็นมนุษย์ร่วมกัน และปฏิเสธทฤษฎีที่ผิดพลาด เกี่ยวกับความเชื่อว่าฉันเหนือกว่าใคร (Superiority) และการแบ่งกลุ่มคนชนชั้นตามความเชื่อแบบอภิชนนิยม (Arrogant strains of elitism)

ระดับที่ 2: ความรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้ (Learner Safety)

ความรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้ (Learner Safety) ช่วยให้คุณเข้าไปร่วมในทุกส่วนกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการถามคำถาม การให้ข้อมูลป้อนกลับ การทดลอง ลองผิดลองถูก ผิดพลาดได้ คนที่ยกมือถามไม่ถูกมองว่าโง่ เกิดการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงสมองและหัวใจ เรียนรู้ผ่านความเปราะบางได้ ได้ทำในสิ่งที่ไม่ถนัด โดยไม่จำเป็นต้องเก่งก็ได้ กล้าเสี่ยง เกิดการเปิดใจเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

ระดับที่ 3: ความรู้สึกปลอดภัยที่จะลงมือทำ (Contributor Safety)

เมื่อเกิดความรู้สึกปลอดภัยที่จะลงมือทำ (Contributor Safety) คุณจะใช้ทักษะและความสามารถของคุณในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานอย่างกระตือรือร้น ประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้เกิดประโยชน์ เกิดคุณค่าความหมายต่อผู้อื่น สาเหตุที่คุณไม่ชอบคนเจ้ากี้เจ้าการ นั่นก็เพราะเขาไม่ให้อิสระและการตัดสินใจกับคุณในการลงมือทำ และสาเหตุที่คุณชอบหัวหน้าที่ให้อำนาจในการตัดสินใจ นั่นก็เพราะเขากระตุ้นให้คุณสร้างผลงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ยิ่งคุณลงมือทำคุณก็ยิ่งมีความมั่นใจและมีความสามารถมากขึ้น และเมื่อคุณสร้างความรู้สึกปลอดภัยที่จะลงมือทำ (Contributor Safety) ให้กับผู้อื่น นั่นหมายความว่าคุณได้มอบแนวทางและสิทธิ์ในการตัดสินใจให้กับเขาอย่างเต็มที่เช่นกัน

ระดับที่ 4: ความรู้สึกปลอดภัยที่จะท้าทาย (Challenger Safety)

เราอาจพบความรู้สึกปลอดภัยระดับที่ 4 ในองค์กรที่พนักงานและหัวหน้างาน นั่งทานข้าวร่วมกันอย่างสบายอกสบายใจ ทุกคนมีความรักให้กันแต่ก็ละลาบละล้วงกันได้นิด ๆ ด้วยความเคารพ

การให้ความเคารพ (Respect) และการให้อนุญาต (Permission) นำมาซึ่งความรู้สึกปลอดภัยที่จะท้าทาย (Challenger Safety) หมายถึง การท้าทายสถานภาพเดิมที่เป็นปกติดีอยู่แล้ว (Status Quo) เพื่อทบทวนและสร้างสรรค์ เมื่อสมาชิกคนใดคิดว่ามีบางสิ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และถึงเวลาที่เหมาะสม หากรู้สึกปลอดภัย เขาจะกล้าพูดออกมาว่า “ทำไมเราถึงทำแบบนี้”, “ลองทำแบบนี้เพิ่มไหม” เป็นการถามด้วยใจที่เป็นอิสระปราศจากความกลัว เพราะรู้สึกปลอดภัยที่จะท้าทาย (Challenger Safety)

ระดับที่ 5: ความรู้สึกปลอดภัยในความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Oneness Safety)

ผมขอเสนอว่า ยังมีความรู้สึกปลอดภัยในอีกระดับหนึ่ง เรียกว่าความปลอดภัยในความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Oneness Safety) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ใจเป็นอิสระจากตัวตนที่แบ่งแยกออกมาจากผู้อื่น ความเป็นอิสระเช่นนี้เกิดจากการเปิดรับผู้อื่นอย่างเต็มเปี่ยม มันเกิดขึ้นในวงสนทนาที่มีการแบ่งปันถึงประสบการณ์ชีวิตอย่างลึกซึ้งจนเกิดเป็นความรู้สึกร่วมกัน เกิดความกลมกลืนจนเสมือนเป็นคนคนเดียวกัน ความรู้สึกของคนอื่นก็เหมือนความรู้สึกของคุณด้วย เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อยอมรับในความแตกต่าง จนในที่สุด การยอมรับนั้นนำไปสภาวะความเป็นหนึ่งเดียวกัน ฉันคือเธอ เธอคือฉัน ปราศจากความแบ่งแยกหรือเกลียดชัง สอดคล้องกับสภาวะในวงสุนทรียสนทนา (Dialogue) ในระดับที่เรียกว่าหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (Generative Dialogue) และสอดคล้องกับสภาวะที่เรียกกว่า “Presencing” ในทฤษฎีตัวยู (ออตโต ชาร์เมอร์, 2563) ซึ่งทำให้เกิดปัญญาร่วม หรือความเข้าใจใหม่ ซึ่งปรากฏขึ้นมาแทนที่ความรู้ชุดเก่าที่เคยยึดติดอยู่ในใจของตนเอง

ถึงตรงนี้ คุณอาจลองตั้งคำถามถามตัวเองดูว่า ในสังคมที่คุณอยู่ “คุณรู้สึกปลอดภัยอยู่หรือไม่” และในทางกลับกันก็ต้องกลับมาถามด้วยว่า ในสังคมที่คุณอยู่ “คุณได้สร้างสภาพแวดล้อมให้กับผู้คนรอบตัวของคุณ ให้เขาเหล่านั้นเกิดความรู้สึกปลอดภัยอยู่หรือไม่” เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเราจะสามารถเพิ่มระดับความรู้สึกปลอดภัย (Psychological Safety) ในทีม ในองค์กร และในสังคมของเราได้อย่างไรบ้าง

หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง โดย อ.ธีรัญญ์

Reference:

  • ออตโต ชาร์เมอร์. (2563). หัวใจทฤษฎีตัวยู: หลักการและการประยุกต์ใช้… สู่การตื่นรู้และการสร้างขบวนการทางสังคม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
  • Timothy R. Clark. (2020). The 4 Stages of Psychological Safety: Defining the Path to Inclusion and Innovation. CA: Berrett-Koehler Publishers, Inc.

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments