โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model

โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model (New EDM) เป็นแนวคิดหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารใหม่ ด้วยการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งการทำงานระดับบุคคลและระดับสังคม ทำให้เกิดคุณภาพด้านในจิตใจ  ด้านทักษะความสามารถ และ ด้านสังคม สามารถแสดงท่าที จุดยืน และ ตอบสนองได้ตามบทบาทอย่างเหมาะสม เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาตนเองให้สามารถบริหารจัดการตนเอง และ ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารใหม่ ที่สามารถบริหารจัดการงานต่างๆ ให้กับองค์กรได้

โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model (New EDM) เกิดจากการตกผลึกจากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่ได้มีโอกาสจัดโปรแกรมพัฒนาด้านภาวะผู้นำให้กับผู้บริหารขององค์กร (Leadership Development Program, LDP) ผสมผสานเข้ากับองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น เรื่อง Four Stages of Competence หรือ The Conscious Competence Learning Model ที่แบ่งขั้นตอนการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ของมนุษย์ออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่

  1. ไม่รู้ว่าทำไม่ได้ Unconscious Incompetence (Wrong Intuition)
  2. รู้ว่าทำไม่ได้ Conscious Incompetence (Wrong Analysis)
  3. รู้ว่าทำได้ Conscious Competence (Right Analysis) และ
  4. ไม่รู้ว่าทำได้ Unconscious Competence (Right Intuition)

เพื่อให้กระบวนการฝึกฝนพัฒนาทักษะเกิดความทันสมัย ตามกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ ได้แก่ Facilitating, Coaching, Deep Listening รวมถึงการเรียนรู้ผ่าน Role Model และ การอยู่ในบริบท (Context) ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือ เกิดทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นคงถาวร จึงขอนำเสนอเป็น Model ใหม่ ที่มีชื่อว่า “โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “New EDM” เพื่อให้เป็นทางเลือก ในการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับ เรื่อง 9 แก่นสารสำคัญ สำหรับผู้บริหารใหม่ : The 9 Essences for New Executive โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ช่วง ดังต่อไปนี้

Awareness (Being) :

การตระหนักรู้ มีความสำคัญมาก เพราะเราได้ทราบความจริงว่า ยังมีสิ่งที่เรา “ไม่รู้..ว่าไม่รู้” อีกมากเลย โดยเฉพาะเมื่อสิ่งนั้น คือ เรื่องภายในตัวตนของเราเอง ที่ไม่สามารถถูกบอกสอนตรง ๆ ได้ จึงจำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Facilitating คือ การฝึกรู้สึกตัวมากขึ้นในสิ่งที่เคยคุ้น และ ฝึกทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยบ้าง เพื่อคอยสังเกตพฤติกรรมของตนเอง พร้อมทั้งการให้ความสำคัญกับการฟังในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ และ ความสามารถในการยอมรับ คือ สิ่งที่สำคัญมากในขั้นนี้

Johari Windows เป็นเครื่องมือหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ช่วยแบ่งการรับรู้ของมนุษย์ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

  1. Open Area (Free Area) เป็นพื้นที่ที่ทั้งตัวเราเอง และ คนรอบตัวของเราต่างรู้เกี่ยวกับเรา
  2. Blind Area เป็นพื้นที่ที่เราไม่รู้ในตัวเอง แต่คนอื่นมองเห็นว่าเราเป็นอย่างนั้น
  3. Hidden Area เป็นพื้นที่ที่เรารู้เกี่ยวกับตัวเอง แต่คนอื่นไม่รับรู้ในสิ่งที่เราเป็น
  4. Unknown Area เป็นพื้นที่แห่งความไม่รู้ ที่ทั้งเราและคนอื่นไม่รู้ เกี่ยวกับเรา

การขยายพื้นที่ Open Area ให้เปิดกว้างออก สามารถทำได้โดยการเปิดรับคำแนะนำ (Feedback) และ การเปิดตัวให้คนอื่นได้รับรู้เกี่ยวกับเรามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถทำได้โดยการคอยสังเกตตัวเองและผู้อื่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หรือในสถานการณ์ที่คับขัน ประกอบกับความสามารถในใคร่ครวญ (Contemplating) ไม่พุ่งเป้าออกไปตัดสินสิ่งอื่น ๆ รอบตัว เพื่อย้อนกลับมาสังเกตที่ตัวเราเอง จนเกิดการยอมรับในข้อจำกัดของเราเอง ซึ่งนั่นก็จะคือประตูสู่การขยายพื้นที่ Open Area ต่อไป

Aspiration (Having) :

มันเป็นเรื่องที่โชคดีมาก ถ้าภายหลังการตระหนักรู้ว่าต้องพัฒนาตนเองในด้านไหน แล้วเราพร้อมลงมือพัฒนาตนเองในทันที แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนด้วย Aspiration คือ ฉันทะ ความปรารถนา หรือ ความอยากที่จะเปลี่ยน ในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ถนัด เราจำเป็นต้องปรึกษาผู้รู้ มีพี่เลี้ยงสอนงาน (Mentor) มีที่ปรึกษาส่วนบุคคล (Personal Consultant) และ ที่สำคัญก็คือ การมีบุคคลต้นแบบ (Role Model) ที่ทำให้เราสามารถเปิดใจ ให้ความเคารพ ศรัทธา ข่าวดีก็คือว่ามนุษย์มี เซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neuron) ที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ แม้เพียงแค่มองเห็นพฤติกรรม

Action (Doing) :

การลงมือทำที่ต่อเนื่อง แม้ไม่สมบูรณ์ตามที่ตั้งใจในทันที แต่ก็สามารถสามารถทำได้ต่อไป มีทัศนคติแห่งการขอบคุณสิ่งเล็ก ๆ (Gratitude) และ มองเห็นความเป็นไปได้อยู่เสมอ (Positive Outlook) เราจึงจำเป็นต้องมีโค้ช (Coach) ซึ่งจะช่วยให้เราฉุกคิด และ เกิดความคิดที่เป็นระบบ สามารถค้นพบวิธีการที่หลากหลาย และ เกิดการลงมือทำ หรือ การฝึกฝนซ้ำ ๆ จนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ

Accomplishment (Being) :

เมื่อสำเร็จแล้ว เรายังคงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำซ้ำ ๆ ได้กลายเป็นนิสัย กลายเป็นพฤติกรรมใหม่ของเราอย่างถาวรแล้วหรือยัง การหมั่นทบทวนโดยไม่ประมาท ยังคงมีความจำเป็นต่อไป สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงถาวรในผลแห่งการเปลี่ยนแปลง คือ 3Cs ประกอบด้วย การอยู่ร่วมในบริบทที่เหมาะสม (Context) การมีกัลยาณมิตรคอยเกื้อหนุนในทิศทางที่ใช่ การมีชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice) หมั่นทบทวนและคอยให้กำลังใจกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเฉลิมฉลองให้รางวัลกับชีวิตก็ควรจะต้องมีเช่นกัน (Celebration) เพื่อซึมซับความสุข ความพอใจเมื่อเกิดความสำเร็จเล็ก ๆ ขึ้นกับชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง

ต่อยอดความสำเร็จเป็นความสุข
ต่อยอดความสุขให้เป็นความสำเร็จ

ผู้เขียนได้นำโมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model (New EDM) มาใช้กับตัวเองอยู่เสมอ และ เกิดผลที่ดีกับการพัฒนาชีวิตอย่างชัดเจน ทำให้สามารถประเมินสถานะการพัฒนาของตนเอง และ เลือกใช้วิธีการได้อย่างเหมาะสม ได้แก่ การเข้าร่วมการฝึกฝนตนเองผ่านกระบวนการเรียนรู้กับกระบวนกรจิตตปัญญา (Contemplative Facilitator), การเข้ารับการโค้ชกับโค้ช (Coach) การเรียนรู้กับพี่เลี้ยง (Mentor) การฝึกทำตามบุคคลต้นแบบ (Role Model) รวมถึงการดำรงอยู่ในบริบทที่เหมาะสม (Context) จึงขอนำเสนอ โมเดลการพัฒนาผู้บริหารใหม่ : New Executive Development Model (New EDM) ให้กับผู้ที่สนใจพัฒนาตนเองให้สามารถบริหารจัดการตนเอง และ ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารใหม่ ที่สามารถบริหารจัดการงานต่างๆ ให้กับองค์กรได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ทาง Line ID = @delighten 

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments