ก้าวสู่โหมดท็อปฟอร์ม : Deal with Defense Mechanisms

จากเกมการแข่งขันฟุตบอลโลก World Cup Moscow ในนัดประเดิมสนามของแต่ละทีม หลายคนก็ได้เห็นฟอร์มของทีมที่ตัวเองเชียร์อยู่ รวมถึงฟอร์มของนักเตะระดับโลก อย่างเช่น โรนัลโด ทีมชาติโปรตุเกส และ เมสซี่ ทีมชาติอาร์เจนติน่าด้วย

ในนัดประเดิมสนามนั้น โรนัลโด้ ซัดแฮตทริกได้อย่างสวยงาม แต่เมสซี่ เผด็จศึกจากการเตะจุดโทษไม่เข้า ฟอร์มของนักเตะแต่ละคนได้ส่งผลต่อผลการแข่งขัน

ดูเหมือนว่าฟอร์มการเล่นของนักเตะนั้น สามารถแบ่งออกได้คร่าว ๆ เป็น 2 โหมด และเราก็มักจะเรียกกันว่า โหมดท็อปฟอร์ม และ โหมดฟอร์มตก

ในชีวิตของเราก็เช่นกันครับ เราสามารถแบ่งโหมดของชีวิตเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ได้เป็น 2 โหมด คือ โหมดท็อปฟอร์ม และ โหมดฟอร์มตก

เวลาท็อปฟอร์ม เราจะอารมณ์ดี ใจสบาย ทำงานได้ต่อเนื่อง เกิดผลงาน ได้มาตรฐาน ลำดับความสำคัญของงานได้อย่างดี ถึงมีงานมาก ก็รู้ว่าทำได้ทีละอย่าง มีความสัมพันธ์ที่ดี สานสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการพูดคุยเชิงบวก ชื่นชมผู้อื่นอยู่เสมอ สร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ พร้อมทั้งยังเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างง่าย ๆ ด้วย

แต่เมื่อฟอร์มตก เราจะอารมณ์เสีย หงุดหงิด น้อยใจ ทำงานได้แต่แบบฝืนทน เหนื่อยใจ เพื่อปกป้องให้ตัวเองไม่ดูแย่นัก จึงมองเห็นแต่สิ่งรอบตัวดูแย่ไปหมด สานสัมพันธ์ด้วยการพูดคุยเชิงลบ นินทาผู้อื่นอยู่เสมอ สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของงาน เกิดความทึบ ๆ คิดอะไรใหม่ ๆ ไม่ค่อยออก

การบริหารตนเองให้อยู่ในโหมดท็อปฟอร์ม การสื่อสาร การสร้างบรรยากาศให้เจ้านาย ผู้ร่วมงาน และ ทีมงานของเรา ได้ “ก้าวสู่โหมดท็อปฟอร์มด้วย” จึงเป็นศิลปะสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ ที่ควรได้รับการฝึกฝนบ่มเพาะอย่างต่อเนื่อง

เทคนิคการก้าวสู่โหมดท็อปฟอร์ม

หนึ่ง.) ท่องไว้เสมอว่า ไม่เสมอไป

การมองว่าโหมดชีวิตเป็นของชั่วคราว ไม่มีใครเป็นเช่นนั้นดังเดิมเสมอไป ตัวเราเองและคนอื่น ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอตลอดเวลา เราจึงไม่ตัดสินมั่นเหมาะว่าเราหรือใคร จะเป็นแบบใดแบบหนึ่งเสมอไป สิ่งที่เราจะทำก็คือ การท่องไว้เสมอว่า “ไม่เสมอไป”

สอง.) ยอมรับได้เร็ว เริ่มใหม่ได้เร็ว 

สิ่งสำคัญอันดับแรกของการก้าวสู่โหมดท็อปฟอร์มก็คือ การรู้ตัวว่าเรากำลังฟอร์มตกหรือท็อปฟอร์ม เมื่อรู้ว่าฟอร์มตกก็ต้องบอกว่า “ไม่เป็นไร” ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบได้ ให้อภัยตัวเองได้ เรียกว่าการมี Self Compassion เมื่อให้อภัยตนเองได้ ก็จะให้อภัยคนอื่นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน มีใจที่ปล่อยวางอดีตได้เร็ว ก็จะสามารถเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ได้เร็ว

สาม.) ขอเวลานอก และ พบโค้ช

นักกีฬาบางประเภท เช่น วอลเล่ย์บอล และ บาสเกตบอล เมื่อทีมฟอร์มตกก็จะขอเวลานอกเพื่อเปลี่ยนสภาวะและพบกับโค้ช ชีวิตของเราก็อาจจะหาจังหวะ “ขอเวลานอก” เพื่อพบกับโค้ช หรือ อยู่ในสถานที่ที่แวดล้อมด้วยคนที่ชวนกันคุยเรื่องดี ๆ ลองคุยเชิงบวกดูบ้าง เราอาจได้พบกับโหมดท็อปฟอร์มที่หายไป รวมถึงโหมดท็อปฟอร์มที่ซ่อนอยู่อีกมาก ที่แม้แต่ตัวเราเอง ก็ยังไม่เคยรู้มาก่อนครับ

สี่.) Preloading Decisions

จากงานวิจัยของจอร์จ โลเวนสไตน์ (George Loewenstein) จากมหาวิทยาลัยคานากี เมลอน (Canargie Melon) ในสหรัฐอเมริกา  เรื่อง Hot-cold empathy gap ได้อธิบายไว้ว่า มันเป็นการยากที่เราจะคาดการณ์พฤติกรรมของเราในอนาคต เรามักจะประมาทและคิดว่าตัวเองจะ “เอาอยู่” ในเรื่องบางเรื่อง โดยลืมไปว่าพฤติกรรมของเรานั้น ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกภายในของเราด้วย เช่น เวลาที่เราโกรธพฤติกรรมของเราก็จะแตกต่างจากตอนที่เรามีอารมณ์ปกติ เวลาที่เราหิวพฤติกรรมของเราก็จะแตกต่างจากตอนที่เราอิ่ม

ในขณะที่สภาวะอารมณ์ความรู้สึกมีผลต่อเรามากๆ เรียกกว่า “Hot State” ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราไม่เป็นไปตามปกติ  ส่วนในขณะที่สภาวะอารมณ์ความรู้สึกของเรานั้น มีความสงบดีอยู่ แบบนี้ เรียกว่า “Cold State” โดยในสภาวะนี้ ก็อาจทำให้เราเกิดความประมาท ขาดการเตรียมการได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาหิว เรียกว่า “Hot State” เราก็จะอยากซื้อของกินให้มากๆ เลือกเมนูต่างๆ ได้อย่างง่ายดายส่วนในเวลาที่เราอิ่ม เรียกว่า “Cold State” เราก็จะไม่สามารถเลือกเมนูอาหารได้อย่างง่ายๆ ในเวลาที่อิ่มอยู่ก็ไม่คิดว่าจะต้องเตรียมอาหารไว้ล่วงหน้า อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เวลาที่เราโกรธ เรียกว่า “Hot State” เราก็จะไม่สามารถสื่อสารได้ตามปกติ ทักษะด้านความสัมพันธ์ที่เรียนรู้มาก็ดูจะอ่อนด้อยลงไป ไม่สามารถทำได้อย่างที่รู้ ส่วนในเวลาที่เราอารมณ์ดี มีความสงบเป็นปกติอยู่ เรียกว่า “Cold State” เราก็อาจเข้าใจว่าเราจะ “เอาอยู่” เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นในอนาคต

เราเรียกความแตกต่างของพฤติกรรมมนุษย์ใน 2 สภาวะเช่นนี้ว่า “Hot-cold Empathy Gap” เทคนิคหนึ่งในการดูแล “Hot State” ของเรา ก็คือ การเตรียมแผนที่เป็นลำดับขั้นตอนไว้ล่วงหน้า ในตอนที่มีสภาวะแบบ “Cold State” พอถึงช่วงเวลาที่อารมณ์เสีย หงุดหงิด คับขันขึ้นมาจริงๆ ก็ให้ยึดทำตามแผนการที่เตรียมเอาไว้ เทคนิคนี้เรียกว่า “Preloading Decisions”

ขอเชียร์ทั้งโรนัลโด เมสซี่ และ นักเตะทุกคนใน World Cup Moscow ครั้งนี้ครับ ขอให้ทุกคนท็อปฟอร์ม สร้างสรรค์เกมฟุตบอลที่สวยงาม ประทับไว้ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกอีกครั้ง

และนี่ก็คือ ก้าวที่ 1 ใน…
9 แก่นสารสำคัญ สำหรับผู้บริหารใหม่
The 9 Essences for New Executive

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments