มุมมองเชิงบวก : positive outlook

การมีมุมมองเชิงบวก (positive outlook) คือ สมรรถนะของผู้นำในทุกระดับ เป็นความสามารถในการมองเห็นข้อดีในบุคคล ในสถานการณ์ และ เหตุการณ์ต่างๆ ยืนหยัดอยู่บนทางสู่เป้าหมายได้ต่อไป แม้ว่าจะพลาดพลั้ง หรือ พบเจออุปสรรค ยังคงเห็นโอกาสในสถานการณ์เหล่านั้นได้ เป็นหนึ่งใน 12 สมรรถนะของผู้นำที่ชาญฉลาดทางอารมณ์ หรือ เรียกรวมกันว่า ESCI (emotional and social competency inventory)

คำถามชวนคิดในงานเขียนนี้ ก็คือ หากเราเป็นคนที่มีชื่อเสียงอย่างมากในโลกออนไลน์ มีข้อความกล่าวชมเรานับหมื่น แต่แล้ววันหนึ่ง เราก็พบว่า มีข้อความในเชิงลบ กล่าวว่าร้ายเรา ในวันนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร ความคิดของเราจะชี้เราไปทางใด เรามั่นใจในความคิดเชิงบวกของเราได้แค่ไหน ? แล้วเราจะกลับมามีมุมมองเชิงบวกต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างไร ? ลองอ่านงานเขียนนี้ พร้อมๆ กับใคร่ครวญไปด้วยว่า เราจะพัฒนาอารมณ์เชิงบวกของเราไปในทิศทางไหนดี

สมองกับมุมมองเชิงบวก

เราพบว่าคนที่มีมุมมองเชิงบวก สมองส่วนหน้าฝั่งซ้าย (the left-side of the prefrontal region) จะทำงานมากกว่า เรายังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเพราะอะไร แต่สมองส่วนนี้เชื่อมกับส่วนที่เรียกว่า “Premotor Cortex” เป็นส่วนที่ทำให้เด็กๆเรียนรู้ที่จะเรียกชื่อ เข้าถึงในสิ่งที่เขาชอบ ติดต่อกับ “Broca’s Area” ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยในเรื่องพัฒนาการทางการพูด โดยรวมแล้วสมองบริเวณนี้ เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมอันหลากหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อพัฒนาการเชิงบวก

เรายังไม่รู้เกี่ยวกับการพัฒนาแบบเฉพาะเจาะจงลงไปในสมองส่วนหน้าฝั่งซ้าย แต่เราสามารถพัฒนาสมองส่วนหน้าได้แบบโดยรวม โดยการฝึกสมาธิ เราสามารถฝึกสมาธิในรูปแบบ โดยการนั่งยืดหลังให้ตรง หลับตาลง หรือ ทอดสายตาลงต่ำ หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว รับรู้ลมหายใจแบบสบาย ๆ ตั้งแต่ลมหายใจเริ่มเข้า จนสิ้นสุดลมหายใจเข้า รับรู้แบบสบายๆ ตั้งแต่ลมหายใจเริ่มออก จนสิ้นสุดลมหายใจออก การรับรู้ลมหายใจ จะช่วยให้เกิดช่องว่างทางความคิด หากเปรียบความคิดดั่งก้อนเมฆที่เคลื่อนผ่านไปอย่างต่อเนื่องกัน การรับรู้ลมหายใจจะเสมือนการแหวกก้อนเมฆแห่งความคิด ให้เราได้พบกับฟ้าใส นั่นคือช่วงขณะที่ปราศจากความคิด การฝึกสมาธิ ยังสามารถทำได้ในอีกหลายรูปแบบ สิ่งที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัดก็คือว่า สมาธิช่วยพัฒนาสมองส่วนหน้าของเราได้

มุมมองเชิงบวกใน 2 มิติ

การศึกษาเกี่ยวกับการมีมุมมองเชิงบวก อาจแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ มิติแรก คือ การศึกษารูปแบบคำอธิบายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึน  (optimistic explanatory style) และ อีกมิติ คือ การศึกษามุมมองเชิงบวกต่อความคาดหวังในอนาคต (dispositional optimism)

หนึ่ง ) เราให้ความหมายต่อสถานการณ์อย่างไร?

มาติน ซีลิกแมน (Martin Seligman) และ ทีมงานของเขา พบว่าผู้ที่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค มักจะต่อว่าตัวเอง ต่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในทางลบ  สาธยายสถานการณ์ออกมาในแบบที่เหมือนกับว่าไม่มีทางแก้ไข (pessimistic explanatory style) ในขณะที่ผู้ที่มีมุมมองเชิงบวก (positive outlook) จะไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เขาจะกล่าวถ้อยคำออกมาอย่างเชื่อมั่น ในทำนองที่ว่า จะสามารถดูแลสถานการณ์ และ ผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายนั้นไปได้ (optimistic explanatory style) การสังเกตคำพูดต่อสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เรารับรู้ได้ว่า ใครบ้างที่เป็นผู้มีมุมมองเชิงบวก

สอง ) เรามีความรู้สึกต่อเป้าหมายอย่างไร ?

ไมเคิล คาร์เวอร์ (Michael Carver) ร่วมกับ ชาร์ล ไชเออร์ (Charles Scheier) และ ทีมงานงานของพวกเขา พบว่า ผู้ที่มีมุมมองเชิงบวก (positive outlook) จะให้คุณค่าในเป้าหมาย คาดหวังในความสำเร็จ เขาจะมองไปสู่อนาคตมากกว่าที่จะอธิบายสถานการณ์ที่ปรากฏจบกลายเป็นอดีตไปแล้ว และ เขายังคงสัมผัสถึงความเป็นไปได้ในเป้าหมาย (dispositional optimism) ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะดูเลวร้ายลงไปในสายตาของคนทั่วไป

สมดุลของมุมมองเชิงบวก

การมองบวก (optimism) และ การมองลบ (pessimism) ต่างถูกเลือกใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเผชิญกับเหตุการณ์ในอนาคตที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้า การมองบวกช่วยให้เราเกิดความมั่นใจ ยืดหยัด กล้าเผชิญ แต่ในบางสถานการณ์การมองบวกแต่เพียงด้านเดียว อาจทำให้เราลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่าง ด้วยความสุ่มเสียงเกินความเป็นไปได้จริงๆ การมองลบในบางสถานการณ์ก็ช่วยให้เรารับรู้ถึงความเป็นจริง และ ช่วยสร้างความปลอดภัยได้มากกว่า นอกจากนี้ การมองลบ ยังช่วยลดความกังวลจากการคาดหวังผล และ อาจส่งผลที่ดีต่อการลงมือทำในปัจจุบันอีกด้วย เช่น ในเกมกีฬา ทีมที่เล่นเพื่อสนุกอาจจะเล่นได้ดีขึ้น ในขณะทีมที่คาดหวังผลมาก เล่นด้วยความกดดัน ก็อาจจะเล่นได้ดีน้อยลง อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การมองบวกอาจได้รับการยกย่องในวัฒนธรรมหนึ่ง แต่อีกวัฒนธรรมหนึ่งอาจถูกมองว่าเป็นคนเย่อหยิ่งจนเกินไป ดังนั้น แทนที่จะมองบวกอยู่ร่ำไป เราอาจปรับสมดุลการมองบวก ด้วยการมองตามความเป็นจริง (realistic outlook) ให้เหมาะตามสถานการณ์ รวมถึงมีความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) ให้เหมาะสมตามวัฒนธรรม และ สภาพสังคม (social awareness) และ นี่ก็คือ สมดุลของมุมมองเชิงบวก

การพัฒนามุมมองเชิงบวก

หมั่นถามตัวเองว่า สิ่งดีๆอะไรบ้างที่จะสามารถเกิดขึ้นต่อไป? ฉันจะรู้สึกอย่างไรเมื่อทำสำเร็จ? เข้าถึงเป้าหมายไม่ใช่เพียงผ่านความคิด แต่ใช้ใจสัมผัสเข้าถึงความอารมณ์ความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเป้าหมายนั้นเป็นจริงด้วย เรียกเทคนิคนี้ว่า “Visualizing” หรือ “Mental Rehearsal” นักกีฬาโอลิมปิกจะใช้เวลา 6 สัปดาห์ก่อนที่จะถึงการแข่งขันจริง เพื่อฝึกซ้อมด้วยการจินตนาการ เสมือนว่ากำลังแข่งขันอยู่จริงๆ เป็นกระบวนการที่ฝึกระบบประสาทของเรา (neural network) ให้เกิดร่องรอยที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในการแข่งขัน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์จริงเราก็สามารถใช้ร่องรอยที่เหมาะสมนั้นได้อย่างรวดเร็ว

โอกาสทองในการฝึกฝนเพื่อพัฒนามุมมองเชิงบวกก็คือ เวลาที่เราผิดพลาด ให้เราฝึกฝนที่จะเรียนรู้จากเหตุการณ์นั้น เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ฝึกฝนมองหาด้านดีจากเหตุการณ์นั้น มันส่งผลที่ดีต่อก้าวต่อไปอย่างไร อย่างน้อยนี่จะคือภูมิต้านทานที่เข้มแข็งสำหรับก้าวเดินต่อไป ได้หรือไม่ ฝึกฝนที่จะขอบคุณเล็กๆน้อยๆ ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ขอบคุณตนเอง และ ขอบคุณคนรอบข้าง ฝึกฝนมองหามุมมองดีๆ เล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน และ เราก็อาจจดบันทึกถึงเรื่องนี้ในเวลาก่อนนอน

ขอบคุณทุกบทความที่ผู้เขียนได้ศึกษา และ นำมาใช้อ้างอิงในงานเขียนนี้ ขอบคุณประสบการณ์ตรงที่ผ่านการตกผลึก และ ขอขอบคุณเป็นพิเศษ สำหรับทุกคนที่อ่านงานเขียนนี้ครับ ^__^

Reference:

  • Richard J. Davidson, “Cerebral Asymmetry, Emotion and Affective Style”, in Brain Asymmetry, eds.
  • Marie J. C. Forgeard and Martin E. P. Seligman, “Seeing the Glass Half Full: A Review of the Causes and Consequences of Optimism, “Pratiques Psychologiques, Psychologie Positive, 18, no.2 (June 2012): 107-20, doi:10.1016/j.prps.2012.02.002.
  • Charles S. Carver, Michael F. Scheier, and Suzanne C. Segerstrom, “Optimism,” Clinical Psychology Review 20, no. 7 (November 2010): 879-89, doi:10.1016/j.cpr.2010.01.006.
  • Davidson, R.J. (2017). The Brain Science Behind Positive Outlook. Positive Outlook: A Primer. MA: More Than Sound.
  • Goleman, D. (2017). Positive Outlook: Beyond the Obvious. Positive Outlook: A Primer. MA: More Than Sound.
  • Boyatzis R. (2017). Practical Strategies for Developing Positive Outlook. Positive Outlook: A Primer. MA: More Than Sound.
เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments