สนทนาสะท้อนปัญญา : run collective wisdom

สนทนาสะท้อนปัญญา แบ่งได้เป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ การสนทนาที่เน้นให้เกิดผลลัพธ์ (productive conversation) โดยมีวัตถุประสงค์วางไว้ล่วงหน้า เพื่อเน้นหาทางออกร่วมกัน อีกแนวทางหนึ่งก็คือ ไดอะล็อกแท้ (pure dialogue) เป็นการสนทนาโดยไม่มีหัวข้อตายตัว ให้เวลา รอคอยได้ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการค้นพบทางปัญญาแบบฉับพลัน (intuition)

run collective wisdom

ปัจจัยที่เกื้อหนุนการสนทนา

สังฆะ หรือ ชุมชนที่อบอุ่นนั้นเกื้อหนุนการสนทนา ชุมชนที่ทุกคนมีพื้นที่ว่างภายในจิตใจ ให้ความเท่าเทียม ไว้ใจกันอย่างเต็มเปี่ยม มีความศรัทธา เชื่อมั่นในคุรุภายใน เคารพซึ่งกันและกัน มีบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน รู้สึกปลอดภัย เป็นครอบครัวเดียวกัน มีความผ่อนคลาย และ ความท้าทาย อยู่รวมกันอย่างพอเหมาะพอดี (flow state)

ทักษะการฟังในวงสนทนา

การฟังเริ่มต้นเมื่อผู้ฟังเปิดพื้นที่ว่างภายในใจ มีสมาธิในการฟัง อยู่กับความเงียบได้ หลอมรวมการฟังเป็นหนึ่งเดียวกับความเงียบ (listen = silent) การฟังเบื้องต้น คือ ความสามารถจับประเด็นได้ ขั้นต่อมา คือ ความสามารถในการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดด้วย การฟัง คือ ทักษะที่ต้องการการฝึกฝน เพื่อให้สามารถฟังได้ ด้วยใจที่เปิดกว้าง เป็นอิสระจากความอยากที่จะพูดแบบทันทีทันใด ที่สุดของการฟัง คือ การปล่อยวางตัวตน ผ่อนคลาย ปรับคลื่นเชื่อมต่อกับปัญญาของจักรวาล เพื่อเปิดรับการผุดขึ้นของปัญญา (intuition)

ทักษะการพูดในวงสนทนา

เราไม่สามารถแยกทักษะการฟังออกจากการพูด ทักษะของการฟังมีผลต่อทักษะการพูดในวงสนทนาเป็นอย่างมาก เมื่อเราสามารถรับรู้ความรู้สึกของตัวเองและผู้พูด จะเกื้อหนุนให้การพูดของเราอยู่ในคลื่นเดียวกันกับวงสนทนา เมื่อเราพูดในคลื่นพลังร่วม การพูดนั้นจะเสริมพลังให้กับชุมชน เมื่อทุกคนในวงสนทนาปรับคลื่นตรงกัน ก็เหมือนแม่น้ำหลายสายที่ไหลมาบรรจบ เราสามารถพูดอย่างซื่อตรงจากความรู้สึก ปล่อยวางความคาดหวัง เพียงแค่พูดจากใจ ทุกสรรพสิ่งจะเกื้อหนุน (run collective wisdom) เกิดเป็นวงสนทนาสะท้อนปัญญา

facilitator

แนวทางการฝึกฝน

  • ฝึกสมาธิ (meditation practice)
    • ทุกครั้งที่รู้สึกตัว จะช่วยตัดเสียงรบกวนภายใน (inner voice)
  • ฝึกหยุดฟัง เสียงระฆัง เสียงนาฬิกา เสียงโทรศัพท์ ฯลฯ
    • พัฒนาการฟัง ด้วยการเป็นมิตรกับความเงียบภายใน (noble silence)
  • ฝึกสังเกต และ จับประเด็น (observation and capturing)
    • ฝึกถ่ายทอดเรื่องราวที่ฟัง โดยไม่แต่งเติม
    • ฝึกทวนคำที่ได้ยินในใจไปด้วยระหว่างที่ฟัง
    • ฝึกเขียนภาพในจินตนาการ (mental rehearsal)
  • ฝึกสืบค้นความรู้สึก (feelings) แยกออกจากความคิด
  • ฝึกพูดพร้อมๆกับ ฟังเสียงของตัวเองไปด้วย
  • ตัวอย่างกิจกรรมฝึกสนทนาร่วมกัน
    • กิจกรรม ผู้ฟังขี้คุย (compassionate listening)
    • กิจกรรม เล่าความภูมิใจ (happiness)
    • กิจกรรม เล่าเรื่องวัยเด็ก (self-connection)
    • กิจกรรม ค้นหาจุดแข็ง (self-esteem)
    • กิจกรรม ชื่นชมสิ่งที่กลัว (courage)
    • กิจกรรม JOHARI (self-development)
    • กิจกรรม NAIGAN (social awareness)
    • กิจกรรม IKIGAI (life purpose)
    • ฯลฯ

เมื่อชุมชนใด มีการสนทนาแบบไดอะล็อกแท้ (pure dialogue) อยู่เป็นพื้นฐาน อยู่ในวิถีในชีวิตประจำวัน เมื่อถึงคราวที่ต้องตัดสินใจในบางประเด็น ให้เท่าทันเวลาที่ถูกกำหนด ชุมชนนั้นก็จะสามารถใช้การสนทนาที่เน้นให้เกิดผลลัพธ์ (productive conversation) ได้ดีเช่นกัน

งานเขียนที่เกี่ยวข้อง : รันกระบวนการ งานกระบวนกร

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments