จิตเป็นหนึ่ง ความคิดเป็นอิสระ : Oneness

ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกขังอยู่ในมายาการ ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบของตัวเอง อันสามารถนำไปสู่ความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ที่จะรับรู้อารมณ์ของคนอื่นและ สามารถรับรู้วาระของกลุ่มได้ การรู้เท่าทันความจริงในปัจจุบันขณะเช่นนี้ จะทำให้เราสามารถเชื่อมต่อภายในตัวเองได้อย่างซื่อสัตย์ และ สามารถเชื่อมต่อสู่ชุมชนด้วยพลังแห่งความศรัทธาซึ่งกันและกัน นี่คือ สภาวะหนึ่งเดียว (oneness) ของการเรียนรู้ร่วมกัน

สภาวะหนึ่งเดียวในวงสนทนา

สภาวะหนึ่งเดียว (oneness) คือ การหลอมรวมหัวใจของเราให้เป็นหนึ่งเดียวกับหัวใจของชุมชน มีความศรัทธาต่อตัวเองและชุมชน เป็นกุญแจที่จะนำพาเราเข้าสู่บรรยาการแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน การเชื่อมโยงจุดร่วม ของความคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน 360 องศา (wholeness) จากผู้เรียนรู้ภายในชุมชน โดยไม่ด่วนตัดสิน จะค่อยๆ ก่อเกิดพลังแห่งความเป็นมิตรและไว้ใจ ตลบอบอวลเป็นมณฑลแห่งพลัง นำพาผู้เรียนรู้เข้าสู่สภาวะที่พร้อมเรียนรู้ได้อย่างดีที่สุด (optimum learning state)  สภาวะหนึ่งเดียวนี้ เกื้อกูลให้ผู้เรียนรู้ทุกคนเบาสบายภายใน พร้อมเปิดเผย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในขณะที่ จะไม่รีบร้อนแยกแยะ แตกประเด็นปัญหา ที่มากมายขึ้นโดยทันทีทันใด เหมือนอย่างการอธิปราย (discussion)

ความไม่รู้ คือ ของขวัญ

ปัญญาแห่งความไม่รู้ยิ่งใหญ่มหาศาล มากมายกว่าความรู้ชุดเดิมที่เคยมี การพบความไม่รู้ จึงคือ ของขวัญที่ล้ำค่า ความพยายามถาโถมความรู้ของตนสู่ชุมชน หรือ ผู้เรียนรู้ อาจทำให้ความรู้นั้นท่วมท้น ก่อเกิดกำแพง ปิดกั้นปัญญาแห่งความไม่รู้เข้าอย่างไม่ตั้งใจ ท่าทีดูเหมือนว่า จะเกิดเป็นการยอมรับไปในทางเดียวกัน แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงเพราะความเกรงใจ หรือ ทำให้ผู้เรียนรู้เก็บซ่อนสงวนความคิดของตัวเองเอาไว้ด้วยความเกรงกลัว ปรมาจารย์ที่แท้จริงจะย้อนกลับไปเรียนรู้ สภาวะของการเป็นคุณครูฝึกงาน ที่น่ารักน่าชม (beginner’s mind)

ศิลปะแห่งการฟัง

ศิลปะแห่งการฟังที่เกื้อกูลในชุมชน คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ไม่ตัดสิน ปล่อยวางอคิติ ฟังอย่างใส่ใจ เฝ้าสังเกต สืบค้นเสียงภายในผู้พูด และ ตัวผู้ฟังเอง จนถึงขั้นปล่อยวางตัวตน สะท้อนให้เกิดปัญญาชุดใหม่ได้ การฟัง คือ ทักษะที่ต้องการการฝึกฝน เพื่อให้สามารถฟังได้ ด้วยใจที่เปิดกว้าง เป็นอิสระจากความอยากที่จะพูด แบบทันที ทันใด เคล็ดวิชาหนึ่งของศิลปะแห่งการฟัง ก็คือ การมีหัวใจดวงเดียวกันกับชุมชน (oneness)

ศิลปะแห่งการพูด

ศิลปะแห่งการพูดแบ่งปันภายในชุมชน อาจคือ การแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความคาดหวังว่า การพูดนั้นจะต้องถูกต้องสมบูรณ์ อาจเลือกพูดเพียงบางส่วนเพื่อเว้นที่ว่างให้กับความไม่รู้ เกื้อกูลให้ส่วนรวม ร่วมประติดประต่อเรื่องราวร่วมกันได้อย่างทั่วถึง และ เป็นอิสระ ไม่ใช่การพยายามพูดเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง ไม่ออกอาการปกป้องความคิดเห็นของตนเอง เพียงพูดเพื่อแสดงออกถึงธรรมชาติของความคิด ความรู้สึก เจตจำนง และ ประสบการณ์ของเรา ร่วมกันเชื่อมโยงหาจุดร่วม สู่ปัญญาชุดใหม่ การขับเคลื่อนเรื่องราวไปพร้อมๆกัน กับทุกคนภายในชุมชน โดยปล่อยให้มีที่ว่างแห่งความไม่รู้เกิดขึ้น จะช่วยเกื้อกูลให้เกิดปัญญาชุดใหม่ผุดขึ้นได้ นอกจากนี้แล้ว สติที่มากพอ ยังช่วยให้ผู้พูด ได้ยินเสียงของตัวเองขณะพูดด้วย

ขณะฟัง ไม่ตัดสิน ไม่แทรกขัด
ก่อนเริ่มพูด หายใจชัด มีสติ
ขณะพูด มีเมตตา กลั่นวจี
พูดไปแล้ว ร่วมยินดี ที่ปัจจุบัน

— รัน ธีรัญญ์ —

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments