คุยกันแบบอ่างปลา ‘Fishbowl’ ในแอพ ‘Clubhouse’

แอพ Clubhouse กระตุ้นให้ผู้เชี่ยวชาญสนุกกับการแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของนักเรียนรู้ที่จะได้เข้าไปรับฟังสาระดี ๆ แบบฟรี ๆ นอกจากนี้ Moderator ประจำห้องใน Clubhouse ยังอาจเลือกประยุกต์รูปแบบการนำเสนอ โดยรันกระบวนการคุยกันแบบอ่างปลา หรือ Fishbowl ได้อีกด้วย

Fishbowl คือ กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการสนทนา เมื่อมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 2 กลุ่ม เรียกว่า “วงใน” และ “วงนอก” ผู้เข้าร่วมที่อยู่ใน “วงใน” ทำหน้าที่เป็นผู้แบ่งปัน ส่วนผู้เข้าร่วมที่อยู่ใน “วงนอก” จะเป็นผู้สังเกตการณ์ โดยเปิดพื้นที่และช่วงเวลาให้เกิดการสลับบทบาทได้

การรันกระบวนการ Fishbowl

1. เปิดประเด็นใหม่

Moderator จะตั้งประเด็นในแต่ละรอบของการสนทนา โดยประเด็นอาจเกิดจากการต่อยอดสาระจากการแบ่งปันในรอบก่อนหน้า หรือเกิดจากการเสนอและยอมรับของสมาชิกในห้องสนทนา หลังจากได้ประเด็นแล้ว รอสัก 1-2 นาที เพื่อให้สมาชิกทุกคนในห้องสนทนาได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพื่อการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมแบ่งปันใน “วงใน” หรือไม่

2. เชิญชวนผู้แบ่งปัน

Moderator เชิญชวนให้คนที่สนใจได้สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาเป็นผู้ร่วมแบ่งปันใน “วงใน” รอบละประมาณ 5-10 คน ส่วนคนที่เหลือก็จะตั้งใจฟังอยู่ “วงนอก” โดยในแต่ละรอบจะยังคงเปิดพื้นที่ เปิดช่วงเวลา (เหมือนมีเก้าอี้ว่าง ๆ ตั้งอยู่ในวงใน) ให้ผู้ที่สังเกตการณ์ในวงนอกได้ยกมือและเข้ามาร่วมตั้งคำถามหรือแบ่งปันเพิ่มเติมได้

3. แจ้งข้อตกลงร่วมกัน

Moderator แจ้งข้อตกลงร่วมกัน (Ground Rule) เช่น การบอกขอบเขตของเวลา หรือขอให้เน้นการแสดงความคิดเห็นผ่านการเล่าประสบการณ์ ลดการนำเสนอทฤษฎีที่ตายตัว ให้ความเท่าเทียม ลดอำนาจเหนือ ไม่ตัดสินกัน เป็นต้น ซึ่งข้อตกลงร่วมกันในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของประเด็นที่สนทนา

4. การสรุปจบ

Moderator ตั้งคำถามถึงข้อค้นพบ ภายหลังจากได้ร่วมแบ่งปัน อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้ของผู้ร่วมแบ่งปันแต่ละคน เพื่อบันทึกข้อค้นพบหรือผลสรุปของการสนทนาในแต่ละรอบ โดย Moderator จะเป็นผู้สรุปด้วยตนเอง หรือให้ผู้ร่วมแบ่งปันร่วมกันสรุป ก็สุดแล้วแต่สถานการณ์ สามารถยืดหยุ่นวิธีการได้ตามเวลาเหมาะสม ปรับเปลี่ยนบทบาท

ในแต่ละรอบอาจใช้เวลา 10-20 นาที โดยในรอบใหม่อาจจะคงประเด็นเดิมเอาไว้ หรือเปิดประเด็นใหม่ เพื่อให้ลงลึกในรายละเอียด หรือเปิดกว้างสู่เรื่องที่เชื่อมโยงกัน จากนั้น รันกระบวนการตามลำดับ 1-4 อีกครั้ง

การคุยกันแบบอ่างปลา (Fishbowl) ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกฝนในการเป็นทั้งผู้แบ่งปัน กล้าแสดงความคิดเห็น และการเป็นผู้รับฟังที่ดี กล้าปรับเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองได้ สิ่งนี้ช่วยสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ให้เกิดมีขึ้นในสังคมของเราครับ

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments