รู้ลมหายใจโดยไม่บังคับ – Observing the breath without controlling

การฝึกตามรู้ลมหายใจ โดยเริ่มต้น ความพยายามในการออกแรงหายใจเข้า จะเกิดขึ้นก่อนการรู้สึกถึงลมหายใจเข้าเล็กน้อย เช่นเดียวกันความพยายามในการออกแรงให้หายใจออก จะเกิดขึ้นก่อนการรู้สึกถึงลมหายใจออกเล็กน้อย นี่คือการเริ่มต้นที่งดงามในการฝึกฝนเพื่อการรู้สึกตัว บางทีเราอาจเรียกการรู้เช่นนี้ว่า “การกำหนดรู้” สิ่งนี้ ช่วยลดความเครียดหรือความคิดที่กำลังฟุ้งซ่านให้จางคลายได้

“หายใจเข้า… หายใจออก…”

เมื่อฝึกฝนการรู้ลมหายใจไปสักระยะหนึ่ง จะมีช่วงเวลาที่ความพยายามหายไป “การตามรู้ลมหายใจ” หรือ “การกำหนดรู้ลมหายใจ” จะแปรเปลี่ยนเป็น “การรู้ลมหายใจแบบซื่อ ๆ” อาจมาจากภาษาอีสานว่า…

“ฮู่ซือ ๆ บ่ต้องเฮ็ดหยัง”

สักแต่ว่ารู้ ราวกับว่านั่นมันไม่ใช่เรื่องของเรา เหมือนเรากำลังดู “ฮิปโปโปเทมัส” หายใจอยู่ เรื่องการหายใจเป็นเรื่องของฮิปโป ไม่ใช่เรื่องของเราแต่เรารู้อยู่ บางทีเราก็อาจมองเห็นร่างกายที่กระเพื่อม ๆ อยู่ด้วยลมหายใจ ไม่ใช่ร่างกายของเรา แต่เป็นลูกโป่งกลม ๆ ที่พองเข้าพองออกด้วยลม นี่คือการฝึกฝนที่เกื้อกูลให้อารมณ์ดี

ดั่งผึ้งเยือนบุปผา

ผมประทับใจเทศนาธรรม เรื่อง ดั่งผึ้งเยือนบุปผา (The Bee visits Flowers เทศนาธรรมผ่าน Zoon โดย หลวงพี่ Dat Nguyen พระธรรมาจารย์จากหมู่บ้านพลัม วันที่ 26 ธ.ค. 63) ที่อุปมาจิตใจ (Mind) ของเราเป็นดั่งผึ้งน้อย (Bee) ในขณะที่มีสติอยู่นั้นผึ้งน้อยก็จะบินไปดอมดมดูดดื่มเกสรดอกไม้ (Flower) การเยือนดอกไม้ของผึ้งน้อยนั้นอุปมาดั่งการหายใจของเรา (Breathe) หากเราหายใจแรงเกินไปดอกไม้ก็จะช้ำ ความพอเหมาะพอดีของการหายใจ จึงอุปมาเหมือนดั่งการเยี่ยมเยือนดอกไม้ของผึ้งน้อยที่แสนเบิกบาน

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments