รักด้วยปัญญา : Love with Wisdom

ความรัก ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาในโลก ทัชมาฮาล (สิ่งมหัศจรรย์ของโลก) เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกัน ว่ากันว่า สงคราม ก็เกิดจากการรักตัวกลัวตายเช่นกัน หากมองให้ใกล้ตัวขึ้นมาอีกหน่อย ความรักของคนหนุ่มสาว ก็มักประกอบด้วยความสุข ความทุกข์ คละเคล้าปนเป จนมีคำกล่าวว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” บางคนเห็นด้วย บางคนไม่เห็นด้วย แท้จริงแล้วความรัก คือ อะไร

ธรรมชาติของความรัก มี 4 ระดับ

1. รักด้วยสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย)

ตาที่เคยมองเห็นว่า สติ๊กเกอร์ Line ชุดหนึ่ง น่ารักสวยงามมาก เมื่อเวลาผ่านไป จะเห็นว่าความน่ารัก ความสวยงาม ของสติ๊กเกอร์ Line ชุดนั้นลดน้อยลง ความน่ารักความสวยที่มองเห็นด้วยตานั้นไม่แน่นอน หูที่ฟังเสียงเพลงหนึ่งว่าไพเราะจับใจ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ว่าคนทั้งโลกจะรับรู้เช่นเดียวกันนั้น ความไพเราะของเสียงนั้น ขึ้นอยู่การปรุงแต่งร่วมกับประสบการณ์ เสียงที่ว่าไพเราะไม่ใช่สิ่งที่มีตัวมีตนอยู่จริง บางคนชอบกลิ่นน้ำหอม แต่บางคนว่ากลิ่นดอกไม้หอมกว่า บางคนแพ้กลิ่นดอกไม้ก็ว่า ไม่มีกลิ่นดีกว่า ตกลงว่ากลิ่นที่เราว่าหอม คนอื่นอาจว่าไม่หอมก็ได้ วันนี้อยากใช้น้ำหอมกลิ่นนี้ พรุ่งนี้อาจอยากใช้น้ำหอมกลิ่นใหม่ ไม่แน่นอน อาหารจานโปรดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อาหารที่เราชอบนั้น เมื่อกลืนลงไปแล้วอาจเกิดคุณ หรือ โทษก็ได้ ตกลงว่าการรักในรสชาติอาหารนั้นก็ต้องคอยระวังให้ดี ผมสลวยบนหนังศีรษะน่าสัมผัส แต่พอล่วงหล่นลงพื้นก็เป็นสิ่งปฏิกูลทันที การรักกันแต่เพียงด้วยสัมผัส รักในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ดม รสที่ลิ้ม กายที่สัมผัส โดยลืมตระหนักถึงความไม่แน่นอน ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์แน่นอน การตระหนักถึงความไม่แน่นอนในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นำมาซึ่งปัญญาได้

“กามเสมือนหลุมถ่านเพลิง เสมือนโรค
เสมือนความเป็นหนี้ เธอพึงละกามเสีย”
— พุทธพจน์ —

2. รักด้วยใจ (ใจรักในสิ่งที่ทำ)

รักที่จะทำในสิ่งที่ดี ก็เกิดประโยชน์ รักที่จะทำในสิ่งที่ไม่ดี ก็เกิดโทษได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงควรรักแบบใฝ่ดี คือ เลือกรักในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ความรักในสิ่งที่ทำนั้น คือ การเริ่มต้นสู่ความสำเร็จ เป็นความรักที่ทำให้เกิดปัญญาได้

“เธอพึงรักในศีล รักในสมาธิ รักในปัญญา รักในการปฏิบัติ”
— พุทธพจน์ —

3. รักด้วยหวังดี (ปรารถนาดีต่อผู้อื่น)

การปรารถนาดีกับคนอื่นนับเป็นความรักที่ประเสริฐ แต่หากปรารถนาดีกับคนหนึ่งคนใด กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดมากไปจนยึดติด ก็อาจไปเบียดเบียนคนอื่น กลุ่มอื่น หรือ เบียดเบียนตนเอง จนเป็นทุกข์ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว การปรารถนาดีต่อผู้อื่นนั้น ต้องปรารถนาดีต่อตัวเองก่อน แล้วแผ่ความรักให้ผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ คือ ไม่คาดหวังเอาผล สามารถรักโดยไม่มีเงื่อนไข และ สามารถปล่อยวางได้ นี่คือ การรักอย่างมีปัญญา

“เธอพึงรักกัน เข้ากันได้ดีเหมือนน้ำกับน้ำนม
เธอพึงตั้งจิตต่อกันด้วยความเมตตา พูดถึงกันด้วยเมตตา
ปฏบัติต่อกันด้วยเมตตา ทั้งต่อหน้า และ ลับหลัง”
— พุทธพจน์ —
“ผู้มีเมตตา เป็นผู้ไม่ว่างจากฌาณเลย”
— พุทธพจน์ —
“ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้น แลอยู่ในที่ใกล้นิพพาน”
— พุทธพจน์ —

4. รักด้วยศรัทธา (นำสู่ปัญญา)

การเชื่ออย่างสนิทใจ ทำให้ใจเปิดรับได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ถ้าเชื่อในสิ่งที่เป็นโทษ ก็จะได้สัมผัสถึงโทษ ตกไปอยู่ในสภาพที่งมงามได้ง่าย แต่ถ้าเชื่อในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็จะสัมผัสถึงประโยชน์ได้เร็ว สามารถใช้ประโยชน์นั้นพัฒนาชีวิตให้เจริญยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงที่สุดแห่งปัญญาได้

“ผู้มีศีล มีความรัก ในพระพุทธเจ้าพอประมาณ
เมื่อจากโลกนี้ไป ย่อมเข้าถึงสุคติ”
— พุทธพจน์ —
“เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์
โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค
โดยความเป็นภัย … ย่อมละตัณหาได้  … ย่อมละอุปธิได้
… ย่อมละทุกข์ได้  … ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส … ย่อมพ้นจากทุกข์ได้”
— พุทธพจน์ —

 

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments