“ทำให้ง่าย” หัวใจของ Startup ที่ปรับใช้ได้ในชีวิต – Startup Concept

การทำความเข้าใจกระบวนการเติบโตที่รวดเร็วของ “Startup” ช่วยให้องค์กรทั้งเล็กและใหญ่ ประหยัดทรัพยากรไปได้มากเลยครับ โดย 2 สิ่งที่เป็นหัวใจของ Startup ก็คือ Repeatable และ Scalable

1. Repeatable

Repeatable คือ สามารถใช้ซ้ำได้ ถ้ามองจากมุมลูกค้า จะหมายถึง สินค้าและบริการที่ออกแบบมา ต้องเป็นสิ่งที่ลูกค้าซื้อซ้ำได้ เช่น เครื่องดื่มที่ดื่มแล้วติดใจ เมื่อลูกค้ากระหายน้ำ ก็ย่อมซื้อซ้ำอีกแน่นอน ในขณะที่สินค้าและบริการบางประเภท ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อซ้ำ เช่น Application ที่ซื้อเพียงครั้งเดียวจบ เป็นต้น

ดังนั้น หากอยากให้ Application มีสิ่งที่เรียกว่า “Repeatable” เราก็ต้องออกแบบให้ภายในบริการนั้น มีสิ่งที่ลูกค้าจะซื้อซ้ำได้ เช่น บริการ Sticker Line จะมี Sticker Shop ที่สามารถเพิ่มแบบใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ทำให้ลูกค้าซื้อซ้ำได้ เป็นต้น

Repeatable ในมิติภายในองค์กร ถ้ามองว่าตัวเราเอง ออกแบบกระบวนการเพื่อตัวเราหรือทีมของเรา ตัวเราหรือทีมของเราก็จะกลายเป็นลูกค้าของตัวเองนั่นเอง การทำให้เกิด Repeatable ในกระบวนการทำงาน จึงหมายถึง เราสามารถใช้ซ้ำ ในแต่ละสิ่งที่ทำขึ้นมาแล้วได้อีก เช่น การทำงาน Art Wotk สำหรับโครงการต่อเนื่อง เราก็อาจจะออกแบบเผื่อให้สามารถใช้ผลงานซ้ำได้ เพียงแค่ปรับเล็กน้อย ก็สามารถใช้ได้ทันที ช่วยให้ประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณไปได้มาก

สรุป Repeatable คือ การออกแบบสินค้าหรือบริการให้สามารถซื้อซ้ำได้ และอาจหมายรวมถึง การออกแบบกระบวนการทำงาน ให้สามารถทำงานซ้ำ ๆ ได้อย่างสะดวก

2. Scalable

Scalable คือ การขยาย แบ่งออกเป็น 2 ทิศทาง ได้แก่

  • Scale Up คือ ขยายความสามารถ (Capability) ได้แก่ กำลังการผลิต หรือ feature ใหม่ ๆ ภายในแอพเดิม ผลก็คือ ยอดขายมากขึ้น ในตลาดกลุ่มเดิม
  • Scale Out คือ ขยายฐานลูกค้า (Customer) ได้แก่ การเพิ่มสาขาใหม่ ๆ หรือขยายการใช้งาน Platform ไปยังประเทศใหม่ ๆ

ตัวอย่าง Scale Up เช่น บริษัทฝึกอบรม ก็อาจเพิ่มจำนวนวิทยากร หรือเพิ่มเติมจำนวนหลักสูตรฝึกอบรมให้มากขึ้น

ตัวอย่าง Scale Out เช่น บริษัทฝึกอบรม ขยายบริการฝึกอบรมไปยังต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ซึ่งถ้าหากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การมี Platform ของตัวเอง จะทำให้การ Scale Out เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก

Scalable ในมิติภายในองค์กร อาจหมายถึง การมีโครงสร้างการทำงาน ที่สามารถขยายกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็ว เช่น โครงสร้างการทำงานแบบ “Scaling Agile Model” ของ Spotify ซึ่งประกอบด้วย Tribe, Squad, Chapter และ Guild โดยที่มีหน่วยใหญ่ที่สุด คือ Tribe ที่มีขนาดไม่เกิน 40-60 คน เพื่อลดกฏ ลดขั้นตอน และลดปัญหาการเมือง ที่มักเกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ มี Squad เพื่อร่วมทีมผู้ที่เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา 4-10 คน มาร่วมงานกันตั้งแต่ต้นจนจบงาน มี Chapter ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านเดียวกันได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และมี Guild ให้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นอิสระตามที่สนใจ เพื่อบ่มเพาะทักษะทางสังคม (Social Skills)

แนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ คือ เราจะเริ่มต้นด้วยการสร้างสินค้าหรือบริการที่ Repeatable ได้ ถึงขั้นนี้ ก็จะเหมือนกับ SME ที่สามารถประครองกิจการอยู่ได้ด้วยการซื้อซ้ำของลูกค้า จากนั้น เราจะทดลอง Scale Up ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มรายการสินค้า บริการ และ feature ใหม่ ๆ

เมื่อทดลอง Scale Up จนเกิดการอิ่มตัวในฐานลูกค้าเดิม เราก็จะมีประสบการณ์เพียงพอ หลังจากนี้ เราจึงทำการขยายฐานลูกค้าดูบ้าง ขั้นนี้ ก็คือการ Scale Out นั่นเอง โดยสิ่งที่จะช่วยให้ Repeatable และ Scalable ทำได้ง่ายและรวดเร็วมาก ๆ ก็คือ การมี Platform

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments