ทำไมโค้ชไม่ถามว่าทำไม : Coaching Questioning

การขึ้นต้นคำถามว่า “ทำไม” นั้นมีประโยชน์ เมื่อต้องการค้นหาคุณค่า สร้างแรงจูงใจจากภายใน ที่จะเป็นทิศทางของการลงมือทำ เช่น ถามตัวเองว่า “ตัวเรานี้…เกิดมาทำไม” “ธุรกิจนี้…ก่อตั้งขึ้นมาทำไม” “สินค้านี้…ผลิตขึ้นมาทำไม” (start with why)

เมื่อได้ทิศทางแล้ว ในช่วงเวลาปกติของชีวิต เราก็ไม่จำเป็นต้องขุดค้นเชิงลึกเข้าไปในจิตใจอยู่ร่ำไป การตั้งคำถามที่ขึ้นต้นด้วย “ทำไม” เช่น “ทำไมคุณจึงไม่มาลงซ้อมกับเพื่อนๆ” คำถามเช่นนี้ อาจให้ความรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม กระแทกความรู้สึกของคนถูกถาม ในขณะที่ไม่พร้อมเปิดใจ และ เมื่อถูกกระแทกแล้ว ประตูใจก็จะถูกปิดลง คนฟังจะปกป้องตัวตน ไม่เปิดเผยความจริงหรือ ไม่กล้าตอบอย่างสร้างสรรค์

การตั้งคำถามแบบโค้ช ตามสำนวนไทย ๆ จึงตกลงกันว่าจะหลีกเลี่ยงการขึ้นต้นคำถามว่า “ทำไม” ปรับเปลี่ยนประโยคให้กลายเป็นคำถามว่า “อะไร” แทน เช่น “ทำไมคุณจึงตัดสินใจเช่นนี้” ปรับเปลี่ยนมาเป็นการตั้งถามว่า “อะไรทำให้คุณตัดสินใจเช่นนี้”

นอกจากนี้แล้ว การถามไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ทิศทางหนึ่งที่ได้ประโยชน์ คือการเชื่อมโยงไปสู่ผลสำเร็จในอนาคต สร้างสภาวะที่จูงใจให้อยากสำเร็จ (Desired State) เช่น “ถ้าได้เป็นแชมป์โลก คุณจะรู้สึกอย่างไร”

ในขณะที่การตั้งคำถาม ถึงอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ความผิดพลาดในอดีต คือ สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการสนทนาโดยทั่วไป เช่น การถามในลักษณะที่ว่า “คุณรู้สึกอย่างไรที่ไม่ได้ลงสนามในนัดชิง”

เทคนิคการตั้งคำถามแบบโค้ช

เทคนิคการตั้งคำถามแบบโค้ช เรียกว่า การตั้งคำถามที่ทรงพลัง (Powerful Questioning) คือ ความสามารถในการถามคำถาม ให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์อันสูงสุดต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน และ ประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับการโค้ช

  1. ถามคำถามที่สะท้อนมาจากการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) และ จากความเข้าใจของมุมมองผู้รับการโค้ช
  2. ถามคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการค้นพบ เกิดการเห็นแจ้ง เกิดพันธสัญญาในการลงมือทำ หรือ ท้าทายกรอบความเชื่อ
  3. ถามด้วยคำถามปลายเปิด ที่ช่วยให้เกิดการอธิบายขยายความกระจ่างชัด เกิดความเป็นไปได้ หรือ การเรียนรู้ใหม่ๆ
  4. ถามคำถามที่เคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ผู้รับการโค้ชต้องการ ไม่ถามคำถามที่ทำให้ต้องมาอธิบายอดีต หรือ ย้อนกลับหลัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ ระหว่างกันมาก่อน จะช่วยให้เราสามารถสนทนากันได้ด้วยความเข้าใจ โดยอาจอยู่นอกเหนือกรอบขอบเขตกฏเกณฑ์บางอย่าง รวมถึงยังมีเงื่อนไขที่แปรเปลี่ยนไปตามบริบท หรือ บทบาทระหว่างกัน เช่น การถามแบบผู้ให้คำปรึกษา (Counselor) ก็จะมีความแตกต่างไป จากการตั้งคำถามแบบโค้ช (Coach) หากเราไม่แน่ใจ … “การฟัง” คือ ทางเลือกที่เยี่ยมยอดในทุกบริบทของการสนทนา

เมื่อเกิดการฟังที่มีคุณภาพ จะทำให้เกิดคำถามที่มีคุณภาพ

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments