ศิลปะสูงสุดของชีวิต – The Art of Life

ศิลปะ ถูกให้ความหมายในมุมมองต่างๆ โดยที่สรุปได้ คือ ศิลปะ ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น

“ศิลปะก็เป็นเพียงศิลปะ เพราะศิลปะไม่ใช่ธรรมชาติ” ( Art is art only because it is not nature ) – เกอเท ( Goethe, 1749-1832 ) กวีชาวเยอรมัน

“ศิลปะ คือ การแสดงออก” ( ART is expression ) – เฮอเบิร์ต รีด ( Herbert Read, 1893 ) นักวิจารณ์ศิลปะชั้นนำชาวอังกฤษ

“ศิลปะ คือ กิจกรรมอันต่อเนื่องแห่งสากล ที่ปราศจากการแบ่งแยกระหว่าง อดีต และ ปัจจุบัน” – เฮนรี่ มัวร์ ( Henry Moore, 1989 ) ประติมากรรมสมัยใหม่ชาวอังกฤษ

“ศิลปะ หมายถึง งานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามด้วยมือ และ ด้วยความคิด” – ศ.ศิลป์ พีระศรี ( C. Feroei, พ.ศ. 2435-2505 )

ปัจจุบัน มนุษย์สร้างผลงานต่างๆ ขึ้นมาใหม่ทุกๆวัน ไม่ว่าจะเป็น บทเพลง บทกวี งานเขียน ละคร หรืองานโฆษณา ฯลฯ โดยผู้สร้างผลงานอาจมีจุดมุ่งหมายต่างๆ กันไป เช่น

  • มุ่งสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดประโยชน์ มีความปรารถนาดี
  • มุ่งสร้างความนิยมในผลงาน โดยการกระตุ้นกิเลสในใจคน
  • มุ่งความพอใจ มีความสุข เบิกบานใจ ในการสร้างผลงาน 
  • มุ่งพัฒนาร่างกายและสมอง ด้วยการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ
  • มุ่งพัฒนาจิตใจ โดยใช้ศิลปะขัดเกลากิเลส ลดอัตตาตัวตน

ไม่ว่าผู้สร้างผลงานจะมีจุดมุ่งหมายเช่นไร สิ่งที่เราควรสนใจ คือ ทำอย่างไรจึงสามารถมองผลงานศิลปะ ผ่านเปลือกนอก เข้าไปให้เห็นถึงแก่นข้างใน คือ เห็นคุณ เห็นโทษ นำมาสอนใจตัวเองได้ สิ่งนี้อาจเรียกว่า “ศิลปะของผู้เสพศิลปะ” เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน


ร่างกายของเราเป็นห้องเรียนรู้ที่ดีที่สุด และ สามารถเรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา โดยมีสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นนักเรียน โดยให้ ใจ เป็นหัวหน้าห้อง ครูที่มีสติ จะคอยอบรมนักเรียน ให้สำรวมอย่างเหมาะสมอยู่ทุกขณะ ถึงแม้นักเรียน จะเผลอทำสิ่งไม่ดี ก่อโทษเข้ามา ครู ก็ต้องสงบ ปล่อยวางอารมณ์ได้ มองเห็นตามจริง พัฒนาปัญญา เพื่อให้การอบรมนักเรียน ให้รู้จักเลือกรับในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อหนุนชีวิตให้มีความเจริญในโอกาสต่อไป

เมื่อมีอารมณ์ภายนอกกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เห็นตามจริงว่ามีการแปรเปลี่ยนไปได้ ต้องปล่อยวางให้เป็นเรื่องของอดีต เหมือนกระแสน้ำไหลผ่านไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องหน่วงเหนี่ยวไว้เพราะจะฝืนธรรมชาติ เราสามารถเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ทุกขณะ และ เมื่อมีสติรู้ว่า กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ ก็สามารถยินดีในทำนั้น ความยินดีจะส่งผลให้เกิดความสุขขึ้นได้ในปัจจุบันขณะ การมีสติเบิกบานด้วยปัญญาเช่นนี้ คือ ศิลปะสูงสุดของชีวิต

“ความงามสูงสุดนั้นก็คือ ภาวะ หรือ
ลักษณะที่ไม่มีกิเลส และ ไม่มีความทุกข์
มีแต่ความสดชื่นของร่างกาย และ
จิตใจที่ปราศจากกิเลส และ ความทุกข์”
— พุทธทาสภิกขุ —


ขอบคุณภาพประกอบ จากกัลยาณมิตร Chaisura Suwannarong 

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments