ยินดีอย่างไร ในทางสายกลาง

ความยินดีในการทำ

การดำรงอยู่ในปัจจุบัน ด้วยความพอใจในการทำเหตุปัจจัย ที่จะนำไปสู่ประโยชน์ แม้ผลยังไม่เกิด แต่ก็มีความสุขในการทำ สภาวะที่มีธรรมในใจ คือ มีจิตเป็นกุศลอยู่ต่อเนื่อง จึงว่างจากอกุศล จะเป็นสุขสงบอยู่ทุกขณะ แทบไม่จำเป็นต้องพูดอะไร นี่ก็คือ ผลอันประเสริฐที่เกิดอยู่ในทุกขณะแล้ว การมีมุทิตาจิต มีจิตยินดีในการทำที่เป็นกุศลทั้งหลาย มีคุณสมบัติช่วยให้ จิตสงบ ผ่องใส แช่มชื่น เบิกบาน ไร้จากความริษยา

นอกจากนั้นแล้ว ความสุขใจ จากมุทิตาจิต ยังเป็นฐานสู่สมาธิได้เป็นอย่างดี เช่น เมื่อระลึกถึงกุศลที่เคยทำ ทานที่เคยทำ หรือ ภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เคยได้บวช ถือศีล ได้เคยปฏิบัติธรรม ก็จะยังให้เกิดสมาธิขึ้น ในปัจจุบัน

ความพอใจในการเป็น

หากเป็นการพอใจในปัจจุบัน ก็จะทำให้เราไม่คิดฟุ้งไปอนาคต เพิกถอนจากความอยาก ที่จะให้ตัวเอง และ ผู้อื่น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ไม่ตัดสินผู้อื่น ซึ่งจะช่วยปรับจิตให้ว่างจากความอยาก เข้าสู่สภาวะที่เป็นอุเบกขาได้ง่าย คือ สามารถวางใจเป็นกลาง พิจารณาเห็นด้วยปัญญา เห็นธรรมดาของธรรมชาติ  รู้จักวางเฉย สงบใจ ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ อุเบกขานี้ มีคุณสมบัติช่วยให้ จิตสงบ ไม่มีความยินดี ยินร้าย 

ส่วนสิ่งที่ควรระวัง จากอุเบกขา ก็คือ การพอใจที่มาก จนเฉยเมย ด้วยความไม่รู้ เช่น การพอใจในการเป็นตัวของตัวเอง อาจกลายเป็นข้อจำกัดการพัฒนา การยึดแน่นในทิฏฐิ ยึดแน่นในความเห็น ที่เคยได้รับการยอมรับ หรือ ยอมรับกันอยู่แต่ในกลุ่มแคบๆ อาจกลายเป็นกำแพงขนาดใหญ่ ที่จำกัดการพัฒนา เมื่อเปิดใจที่จะพัฒนา คลายจากการยึดเดิมๆลงได้ จะนำไปสู่ความเจริญในทิฏฐิ ปัญญาที่สูงขึ้นไป



ยินดีอย่างไร ในทางสายกลาง

การดำรงอยู่กับเหตุปัจจัย ที่พอเหมาะ พอดี เกื้อหนุน ให้เกิดการเจริญสติ เมื่อมีสติอยู่ ก็เพียรระวัง เพียรละ อกุศลธรรม เพียรทำ เพียรรักษา กุศลธรรม มุทิตาจิต ก็เป็นกุศลจิต จึงควรเจริญ เจริญมุทิตาจิต เพื่อลดความริษยา เบิกบานด้วยปัญญาในปัจจุบันขณะ โดยระลึกรู้ถึงความไม่เที่ยงด้วย 

สิ่งที่ควรระวัง คือ ไม่ยินดีมาก จนเกิดความเพลิดเพลิน หรือ สนุกสนานเกินไป จนลืมมองเห็นถึงความไม่เที่ยงของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ในที่สุดแล้ว จึงควรสังเวชใจในความไม่เที่ยง แล้วปรับจิตให้เป็นกลาง เป็นอุเบกขา คือ ถอนจากทั้งความยินดี และ ความไม่ยินดี ตามแนวทางปฏิบัติ ในเรื่อง สติปัฎฐาน 4 คือ ให้พิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความยินดี และ ความไม่ยินดี (วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง) เพื่อให้เกิดการถอดถอนการยึดมั่นถือมั่น ในกามสุข ในความคิดเห็น ในศีลพรต และ ในความเป็นตัวตน

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา
ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์


เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments