อริยมรรค ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก งานบรรยายธรรม ปฏิบัติธรรม เรื่อง อริยมรรค ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง โดย อ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม วันที่ 9 สิงหาคม 2558 ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ เขียนสรุปตามสำนวนของผู้เขียนเอง ร่วมกับปัญญาที่ผุดขึ้นขณะฟังธรรม โดยสรุปเนื้อหาเพียงบางส่วนที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ เพื่อน้อมนำมาฝึกปฏิบัติ และ แบ่งปันให้กัลยาณมิตรผู้จะใคร่ครวญให้เป็นประโยชน์ (โยนิโสมนสิการ) น้อมใส่ใจมาปฏิบัติฝึกตน (โอปนยิโก) เช่นกัน

ความคิดไม่มีตัวตน
อาจารย์เปรียบความคิดเหมือนฟองสบู่ ที่เด็กๆ ใช้หลอดจุ่มในน้ำละลายยาสระผม แล้วเป่าออกมาเป็นฟอง ขณะเกิดฟองนั้นก็เหมือนความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัว แล้วในที่สุดฟองนั้นก็แตกไป เหมือนความคิดที่ในที่สุดก็จะดับไป ไม่มีตัวตนอะไร เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าไปหลงในความคิด (สร้างภพ*) คร่ำครวญกับอดีต (เลียซากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง) และ อย่าไปหลงกับความคิด (สร้างภพ) ฟุ้งซ่านในอนาคต

กุมแก้วน้ำร้อน
คนที่มีความทุกข์ แม้ได้ฟังคำแนะนำให้คลายทุกข์ แต่ตราบใดที่ยังคงใช้มือกุมแก้วน้ำร้อนอยู่ ก็จะยังคงร้อนอยู่อย่างนั้น ยังคงทุกข์อยู่อย่างนั้น ปลอบโยนอย่างไรก็ไม่ได้ สิ่งที่ควรทำ คือ หาทางปล่อยวางแก้วน้ำร้อนนั้นให้ได้ อาจารย์เปรียบเหมือนการคอยตบมือเอาไว้เสมอๆ ก็จะทำให้วางแก้วน้ำร้อนได้ นั่นคืออุปมาแทนการฝึกสติ เช่น การระลึกรู้ลมหายใจ เมื่อระลึกรู้ลมหายใจ ก็จะไม่คิด ถ้าคิดก็ไม่หลงในความคิด ก็ไม่มีการสร้างภพ ไม่มีการสร้างภพ ก็ไม่เป็นทุกข์

เต่ากับปลา
เต่าเล่าเรื่องบนบกให้ปลาฟังว่า บนปกไม่มีโคลนใต้น้ำ ไม่มีคลื่นใต้น้ำ ปลาฟังอย่างไรก็ไม่อาจรู้ได้

รอน้ำเดือด
หากน้ำต้องใช้เวลา 3 นาที ในการเดือดด้วยความร้อนระดับหนึ่ง จะรีบเร่งให้เดือดเร็วขึ้นก็เป็นไปไม่ได้ จะปรับลดเวลาเหลือ 2 นาที ในเงื่อนไขความร้อนระดับเดิมก็คงไม่เดือด การเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน คือ สร้างเหตุ และ ปล่อยวางให้เรื่องของผล เป็นเรื่องของอนาคต จะทำให้ไม่ต้องร้อนรนทนทุกข์ในขณะที่รอคอย และ ความอดทนนั้น ต้องมีการปล่อยวางที่ใจด้วย

คำว่า อุตส่าห์
เมื่อมีคำพูดที่ประกอบด้วยคำว่า “อุตส่าห์ทำ…ให้” มักจะสื่อถึงการทำให้โดยหวังผลตอบแทน ซึ่งจะนำมาซึ่งความทุกข์เมื่อไม่สมหวังตามที่คาด ในขณะที่หากเราทำให้โดยบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่คาดหวังเอาผล คำสรรเสริญ คำนินทา ก็จะไม่มีผลสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้ให้ ผู้ที่ให้ก็จะยังคง มีความมุ่งมั่นตั้งใจใฝ่ดีได้ต่อไป สิ่งที่ควรใคร่ครวญอยู่เสมอในเรื่องของการให้ ก็คือ เราเคยให้อะไรใครจริงๆ แล้วหรือยัง ?

*ภพ ค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมได้ในเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments