Digital Transformation ในอุตสาหกรรม 4.0

Digital Transformation (DX) คือ การปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเท่าทัน
.
และเนื่องจาก DX เกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับความต้องการของลูกค้า ดังนั้น ทุกองค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่อง DX สำหรับความหมายโดยละเอียดของ DX สามารถอ่านได้ที่บทความนี้

Digital Transformation (DX) คือ อะไร

สำหรับองค์กรในภาคอุตสาหกรรม นอกจากคำว่า Digital Transformation แล้ว ยังมีคำว่า Industry 4.0 หรือ อุตสาหกรรม 4.0 อีกด้วย แล้ว 2 สิ่งนี้ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

อุตสาหกรรม ได้จัดแบ่งเส้นทางพัฒนาการเอาไว้เป็น 4 ยุคสมัย ได้แก่

  • ยุค 1.0 คือ ใช้เครื่องจักรไอน้ำ และเครื่องทอผ้า
  • ยุค 2.0 คือ ผลิตครั้งละมาก ๆ ผ่านสายพาน และพลังไฟฟ้า
  • ยุค 3.0 คือ ใช้หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็คทรอนิกส์
  • ยุค 4.0 คือ การเชื่อมเครื่องจักรเข้าสู่โลกออนไลน์

    โดยในยุค 3.0 และยุค 4.0 นั้น อาจแบ่งโดยละเอียดได้เป็น 6 ขั้นตอน (Industrie 4.0 Maturity Index, 2020) โดยในแต่ละขั้นตอนนั้น ไม่สามารถก้าวข้าม หรือตัดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. Computerization

ทำให้งานที่ทำซ้ำ ๆ ทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการใช้ Automation โดยในแต่ละส่วนงานยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน รวมถึงเป็นการเปลี่ยนข้อมูลแบบ Analog ให้เป็น Digital

2. Connectivity

เชื่อมโยงและหลอมรวมกระบวนการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยใช้ Cloud Computing เพื่อแชร์ข้อมูลระหว่างกัน เห็นข้อมูลครบถ้วน สามารถตัดสินใจได้อย่างบูรณาการมากขึ้น เช่น การมีระบบจัดซื้อจัดจ้าง ที่สามารถเห็นข้อมูลได้อย่างรอบด้านทั้งราคาและเวลาจัดส่ง (Lead Time) ก็ทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น และเมื่อเปิดให้หลายโรงงานได้รวมปริมาณการสั่งซื้อ แล้วสั่งซื้อพร้อมกันได้คราวละมาก ๆ ก็ช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองได้

3. Visibility

รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น Sensors แสดงผลข้อมูลแบบ Real-time ทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำจากแหล่งข้อมูลเดียว (the single source of truth) เช่น สามารถวัดค่าประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE: Overall Equipment Effectiveness) ได้อย่างแม่นยำ แทนการจดบันทึกรายงาน (OEE = Availability x Performance Efficiency + Quality Rate)

4. Transparency

รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร จากการวิเคราะห์ Big Data ต่อยอดจากการที่มีข้อมูลที่แม่นยำจากแหล่งข้อมูลเดียว (the single source of truth) เมื่อนำข้อมูลมาคำนวณจึงได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างแม่นยำในทันที เช่น สามารถคำนวณค่า Yield = Output / Input ได้จากมีข้อมูล Output และ Input ที่ถูกต้องแม่นยำ (Visibility) ไม่สามารถบิดเบือนตัวเลขย้อนหลังได้ จึงเกิดความโปร่งใส (Transparency)

5. Predictive Capacity

รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที เช่น รู้ว่าเครื่องจักรกำลังจะเสียล่วงหน้า 60 วัน ทำให้มีเวลาสั่งซื้ออะไหล่ เพื่อการซ่อมบำรุง พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรตัวอื่นเข้ามาทดแทน หรือโยกการผลิตไปที่โรงงานอื่นได้ทันท่วงที

6. Adaptability

ตัดสินใจบนฐานของข้อมูล (Information-based decisions) แทนการตัดสินใจบนฐานของประสบการณ์ (experience-based decision) และตอบสนองแบบอัตโนมัติและแม่นยำ เช่น เมื่อรู้ความต้องการของลูกค้า ก็จะมีการปรับปริมาณการผลิต เปลี่ยนแปลงประเภทของผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว และลดการสูญเสียได้มาก หรือ “Auto vehicle” จะสามารถปรับเปลี่ยนการขับเคลื่อนได้ ก็จำเป็นต้องมีข้อมูลที่โปร่งใส (Transparency) ไม่บิดเบือน และสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ (Predictive Capacity)

และผมขอเพิ่มเติมข้อ 7 ด้วยว่า เมื่อองค์กรทำ Digital Transformation มาจนถึงจุดหนึ่ง อาจเกิดระบบที่ก้าวล้ำ จนสามารถแบ่งปันให้กับองค์กรอื่นได้ใช้ด้วย และเมื่อแบ่งปันได้ ก็จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ให้กับองค์กร จนอาจกลายเป็นว่าธุรกิจใหม่นี้ มีแนวโน้มที่จะเติบโตแซงหน้าธุรกิจเดิมได้ในเวลาอันใกล้ เช่น การพัฒนาระบบ Cloud Computing ของตนเองจนกลายเป็น Platform as a Service (PaaS) ที่ให้บริการกับองค์กรอื่นได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การเดินทางบนเส้นทางของ Digital Transformation จำเป็นต้องบูรณาการอย่างรอบด้าน ทั้งด้านกำลังคน เครื่องจักร เครื่องมือ วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ (Resources), ด้านระบบข้อมูล (Information Systems), ด้านโครงสร้างองค์กร ที่พร้อมปรับเปลี่ยนตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Organizational Structure) และด้านวัฒนธรรมองค์กร ที่พร้อมเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ (Culture)

สรุปว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 คือ การลงรายละเอียดในการทำ Digital Transformation ในมิติขององค์กรภาคอุตสาหกรรม โดยผลลัพธ์สุดท้ายของอุตสาหกรรม 4.0 คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยน (Adaptability) ตัดสินใจบนฐานของข้อมูล และตอบสนองปรับเปลี่ยนได้อย่างอัตโนมัติและแม่นยำ โดยไม่ต้องพึ่งพาการตัดสินใจของมนุษย์ ในขณะที่หัวใจของการทำ Digital Transformation คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเท่าทัน ด้วยการใช้เทคโนโลยี ไปจนถึงสามารถเปลี่ยนแปลง Business Model ให้กับธุรกิจได้ ดังนั้น คำว่าอุตสาหกรรม 4.0 และ Digital Transformation จึงมีความสอดคล้องกัน ในภาคอุสาหกรรมอาจใช้ 2 คำนี้ ทดแทนกันได้ในเบื้องต้น โดยคำว่า Digital Transformation มีความหมายที่กว้างกว่าซึ่งสามารถใช้ได้ในองค์กรทุกภาคส่วน

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments