3 เทคนิค การเพิ่มแรงจูงใจจากภายใน: Intrinsic Motivation

เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีความสุข สนุกสนาน และได้พัฒนาตัวเอง

เทคนิคที่ 1. สร้างความสุข

เราจะเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “เราทำงานนี้ ไปทำไม” คำถามนี้ นำไปสู่คุณค่าของงาน แต่ถ้ายังตอบไม่ได้ เราอาจเริ่มต้นด้วยคำว่า “ดีจัง มีงานให้ทำ” “ทำงาน ช่วยให้มีตังค์ กินข้าว ใช้จ่าย” ไปจนถึง “ดีที่มีงานให้ทำ จะได้ไม่เป็นภาระใคร” หรือ “ทำงานนี้ดี จะได้ช่วยเลี้ยงดูคนที่เรารักได้” และถ้าโชคดีกว่านั้นเราอาจเชื่อมโยงงานที่ทำกับคุณค่าในใจของเรา เช่น ถ้าเรามีความสุขเมื่อเห็นคนเปิดใจ (Openness) รับฟัง หรือเชื่อมประสานความหลากหลายเข้าด้วยกัน (Connectedness) นี่คือคุณค่าของเรา และถ้าเราทำงานที่เกี่ยวข้องหรือทำให้งานของเราเกี่ยวข้อง กับคุณค่าเหล่านี้ เราจะมีแรงจูงใจจากภายใน

เทคนิคที่ 2. สร้างความสนุกสนาน

เมื่อเวลาผ่านไป การทำสิ่งเดิม ๆ อาจทำให้เราชาชิน ความกระตือรือร้นกับงานอย่างที่เคยในช่วงแรก ๆ อาจลดลง ดังนั้น เราจำเป็นต้องขยับขยายงานของเราให้ท้าทายขึ้น เพิ่มความแปลกใหม่ อาจเรียกว่า “สร้างสนามเด็กเล่น” หรือ “พื้นที่ทดลอง” ให้กับงานเดิมของเรา เช่น ทดลองทำสิ่งใหม่ หรือทดลองทำสิ่งเดิมด้วยวิธีการแบบใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องใหม่แบบ 100% เราสามารถ “สร้างสนามเด็กเล่น” หรือ “พื้นที่ทดลอง” แค่ 2% ของงานเดิมที่คุ้นเคย แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ที่จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจจากภายในของเราเอง

เทคนิคที่ 3. เรียนรู้และพัฒนาตนเอง

เมื่อจบงานแต่ละครั้งเราสามารถตั้งคำถามว่า “ฉันได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้” แทนที่จะมองหาจุดที่ผิดพลาดจากคนอื่น ให้เรากลับมาใส่ใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ แม้ในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น การพัฒนาตนเอง จากการทำงาน ยังสามารถเพิ่มระดับความเข้มข้น ด้วยการเปิดใจถามเพื่อนร่วมงานที่เราให้ความไว้วางว่า “มีอะไร ที่ฉันจะทำได้ดีกว่าเดิม ในครั้งต่อไปได้อีกบ้าง” เมื่องานที่ทำ สามารถสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเราเองได้ จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจจากภายใน ให้กับเราได้เป็นอย่างดีครับ

จาก 3 เทคนิคนี้ เราอาจถามคำถามตัวเอง เป็น 3 คำถามต่อไปนี้ว่า

  • ถ้าคะแนนเต็ม 4 คะแนน
    เรามี “ความสุข” ในการทำงาน กี่คะแนน
  • ถ้าคะแนนเต็ม 4 คะแนน
    เรามี “ความสนุกสนาน” ในการทำงาน กี่คะแนน
  • ถ้าคะแนนเต็ม 4 คะแนน
    ในงานที่ทำ เราได้ “เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง” กี่คะแนน

เมื่อตอบครบทั้ง 3 คำถามนี้ เราคิดว่า เราจะเลือกสร้างแรงจูงใจจากภายใน แบบไหนก่อนดีครับ

References:

  • Anne M. Brafford and Richard M. Ryan. (2020). 3 Ways to Motivate Your Team Through an Extended Crisis.
  • Daniel M. Cable. (2018). Why People Lose Motivation – and What Managers Can Do to Help. Harvard Business Review.
  • Daniel M. Cable. (2018). Alive at Work: The Neuroscience of Helping Your People Love What They Do. DOI: 10.1177/0001839218805695.
  • Daniel M. Cable. (2018). Alive at Work: The Neuroscience of Helping Your People Love What They Do. Harvard Business Review Press.
  • Lindsay McGregor and Neel Doshi. (2015). How Company Culture Shapes Employee Motivation. Harvard Business Review.
เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments