Empathy เข้าใจ…จากใจสู่ใจ

          บางครั้ง เราอยากจะบอกเล่าเรื่องราวของเราให้กับใครสักคนได้รับฟัง เช่น ในวันที่เราประสบความสำเร็จหลังจากผ่านความยากลำบาก หรือแม้กระทั่งในวันที่เรารู้สึกผิดจากสิ่งที่ได้ทำลงไป เราเพียงแค่ต้องการใครสักคนมาเข้าใจเราก็เพียงเท่านั้น แต่บ่อยครั้ง แค่มีคนเข้าใจมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนฟังเราพร้อมกับการตัดสิน “ทำไมเธอไม่ทำเหมือนกับคนอื่นล่ะ” หรือไม่ก็ซ้ำเติม “โอว้ เธอได้รู้แล้วสินะ ฉันเคยบอกแล้วไง” หรือไม่ก็แนะนำบอกสอน “ฉันว่าทางที่ดี เธอควรจะทำแบบนี้ดีกว่านะ” ในวันที่เราหมดพลัง เราอาจเพียงแค่ต้องการประคับประครองให้ชีวิตลุกขึ้นยืนได้ ยังไม่พร้อมมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายใด ๆ ทั้งนั้น คำแนะนำต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในวันที่ยากลำบาก จึงกลายเป็นการบั่นทอนคุณค่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เพราะคำแนะนำบอกสอนต่าง ๆ เหล่านนั้น ได้มาตอกย้ำว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่นั้น มันยังไม่ดีพอ กำลังจะลุกขึ้นยืนได้แล้วเชียว กลับต้องทรุดตัวลงนอนอีกครั้ง ดังนั้น แค่ความหวังดีต่อกัน ด้วยการแนะนำบอกสอน นั้นยังไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ

          เพื่อให้เราสามารถสังเกตความสามารถในการเข้าใจของเราได้ง่ายขึ้น เราอาจแบ่งความเข้าใจ หรือ Empathy ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) ความเข้าใจด้วยความคิด (2) ความเข้าใจผ่านความรู้สึก และ (3) ความเข้าใจผ่านการเป็นเขา

  • ความเข้าใจด้วยความคิด (Empathy by Thinking) เราอาจจะกำลังฟังใครสักคน พูดถึงความยากลำบากในชีวิต และเราก็คิดว่า เขาคงกำลังเหนื่อย เพราะฉะนั้นด้วยความหวังดี เราก็จะตอบกลับไปว่า “หยุดพูดเรื่องนี้เถอะ ไปเที่ยวกันดีกว่า” นี่คือท่าทีตอบกลับ เมื่อเราเข้าใจเขาด้วยความคิดของเราเอง การเสนอวิธีการอาจจะทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการทำความเข้าใจตัวเอง และจริง ๆ แล้ว ในตอนนั้น เขาอาจจะกำลังเศร้าเกินกว่าที่อยากจะไปเที่ยว ตามที่เราชวน
  • ความเข้าใจผ่านความรู้สึก (Empathy by Feeling) เมื่อเราเปิดใจ ปล่อยให้เรื่องราวของเขาไหลผ่านใจของเรา จากนั้นสัมผัสรับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา เราจะมีโอกาสเข้าใจเขาได้อย่างอ่อนโยน ผ่านความรู้สึกของเรา โดยเฉพาะเมื่อเรื่องราวนั้น ใกล้เคียงเทียบเคียงได้กับประสบการณ์ของเรา เราจะสามารถเข้าใจได้ง่ายเป็นพิเศษ การเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับนี้ จะช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เกิดเป็นความไว้วางใจต่อกัน และเขาเองก็จะรับรู้ถึงความรู้สึกของเราได้เช่นเดียวกัน อุปมาเหมือนมีสะพานทอดผ่านใจของเราสู่ใจของเขา ให้เกิดความเข้าใจกันได้ผ่านความรู้สึก
  • ความเข้าใจผ่านการเป็นเขา (Empathy by Being) ถ้าเรื่องราวที่เรารับฟังนั้นมีความใกล้เคียงเทียบเคียงได้กับประสบการณ์ของเรา เราก็จะเข้าใจได้ง่าย แต่โดยส่วนมากแล้ว เรื่องราวของแต่ละคนนั้นมีรายละเอียดที่เฉพาะตัว ความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่สุดจึงคือ การเข้าใจผ่านการเป็นเขา เพียงแต่เราจะกลายเป็นเขาได้อย่างไร นี่คือทักษะที่ฝึกฝนได้ เช่น การนำตัวเองไปจุ่มแช่ในเหตุการณ์และสถานที่เดียวกันกับเขา เช่น ถ้าเราอยากรู้ว่าคนตั้งท้องรู้สึกอย่างไร เราก็จะต้องตั้งท้องเอง หรือไม่ก็ต้องจำลองให้ใกล้เคียงที่สุด เราอาจนำหมอนมาพันรอบเอวเอาไว้ แล้วก็ทดลองใช้ชีวิตไป หรือการไปลงพื้นที่เข้าไปในชุมชน เพื่อให้เราได้เข้าใจผู้คนในชุมชนนั้น เป็นต้น นี่คือวิธีที่เราจะเข้าใจเขาผ่านการเป็นเขา นอกจากนี้ เราอาจฝึกขยายความเมตตากรุณา (Circle of Compassion) ให้เราสามารถรักผู้คนทุกคนเหมือนกับคนที่เรารักที่สุด คุณสมบัตินี้มีในจิตใจของเราอยู่แล้ว ในช่วงเวลาที่เราเห็นว่าเขายากลำบาก อย่างเช่น เวลาเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เราก็บอกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองอย่างลึกซึ้งลงไป ให้เห็นถึงความทุกข์ในใจของเขา เราก็จะรักเขาได้ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เรียกการฝึกฝนเช่นนี้ว่า การมองอย่างลึกซึ้ง (Look Deeply) เมื่อเรามองอย่างลึกซึ้งได้ เราก็จะสามารถเข้าใจเขาได้อย่างลึกซึ้ง ราวกับว่าเราและเขาเป็นคนคนเดียวกัน

การเข้าใจทั้ง 3 ระดับ มีประโยชน์อย่างมากในปัจจุบัน และไม่เพียงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภายนอกแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังนำความสุข ความเบิกบาน มาสู่ภายในใจของตัวเราเองด้วย ทันทีที่เราเข้าใจคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง เราก็กำลังเข้าใจตนเองได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

      

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments