เป็นตัวของตัวเองอย่างกลมเกลียวด้วย IFS: Internal Family System

พื้นฐานการเยียวยา (Healing) ร่วมกับการภาวนาให้ใจเป็นกลาง ช่วยให้เราสามารถสร้างความกลมเกลียวภายในจิตใจ แม้ในวันที่อารมณ์ท่วมท้น เราก็จะสามารถยอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจของเราได้ รวมถึงเมื่อเราเป็นผู้ที่รับฟังความทุกข์ของผู้อื่น เราก็จะสามารถมอบความเข้าใจเช่นนี้ให้กับผู้ที่อยู่ตรงหน้าของเรา เกื้อกูลให้เกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยพื้นที่ปลอดภัยนั้น สามารถเกิดได้จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เราอาจเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนในเรื่องที่เขาสนใจ เช่น การดูแลสุขภาพ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามแบบที่ชอบ เป็นต้น ในส่วนของการเยียวยารักษาจิตใจ หนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจ เรียกว่า IFS (Internal Family System) หรือ “ระบบครอบครัวภายใน”

IFS แบ่งระบบภายในจิตใจออกเป็นหลายตัวตน (Parts) โดยมองว่าทุกตัวตนล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ ไม่มีตัวตนใดที่เลวร้าย แต่ละตัวตนภายในตัวเราล้วนต้องการผลเชิงบวกแก่ตัวเอง แต่เนื่องจากแต่ละตัวตนเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กันอยู่ ความต้องการเหล่านั้นจึงส่งผลต่อตัวตนอื่น ๆ ด้วย เป้าหมายของการสร้างความกลมเกลียวภายใน จึงไม่ใช่การกำจัดตัวตนใดตัวตนหนึ่งออกไปจากชีวิต แต่ช่วยให้แต่ละตัวตนนั้นได้พบบทบาทที่เหมาะสม เกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ภายใน ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีภายนอกด้วย

IFS หรือ ระบบครอบครัวภายใน ประกอบไปด้วย Self ซึ่งในที่นี้หมายถึง สภาวะใจที่เป็นกลาง นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยตัวตนต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มเด็กน้อย (Exiles), กลุ่มผู้จัดการ (Managers) และกลุ่มนักดับเพลิง (Firefighters)

💙1. สภาวะใจที่เป็นกลาง (Self)

เมื่อเรามองตัวตนต่าง ๆ ภายในจิตใจนั้นเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว เราจะพบว่าสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวนั้นมีลักษณะนิสัยต่างกัน บางคนชอบควบคุมคนอื่น บางคนชอบน้อยใจ บางคนชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย เงียบสงบ บางคนก็ชอบความอึกทึก ตื่นเต้นสนุกสนาน แต่ละคนจึงมีความพอใจหรือไม่พอใจกันเป็นธรรมดา เมื่อต้องอยู่ร่วมกันและต้องปฏิสัมพันธ์กัน ในขณะที่ภายในครอบครัวของเราจะมีสมาชิกอยู่หนึ่งคนเสมอ ที่มีความมั่นคง ผ่อนคลาย สามารถรับฟังและปฏิสัมพันธ์กับทุกข้อเสนอแนะจากทุกคนภายในครอบครัว เขามีใจที่เป็นกลาง (Feeling of being “centered”) เต็มเปี่ยมไปด้วยความความเข้าใจและความรัก มีสภาวะของใจที่เป็นอิสระจากเสียงตัดสิน ใน IFS เราเรียกตัวตนนี้ว่า “Self” เมื่อตัวตนนี้เป็นผู้นำในการปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวของเราจะรู้บทบาทและปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างเหมาะสม

👶2. เด็กน้อยภายใน (Exiles)

เป็นตัวตนที่เคยเผชิญประสบการณ์ที่ท้วมท้นในอดีตจนเกิดเป็นปมภายในจิตใจ (Trauma) ตัวตนกลุ่มนี้พยายามแยกตัวออกจากระบบภายใน เพื่อหลีกหนีความรู้สึกที่เจ็บปวด หวาดกลัว เหมือนถูกเนรเทศออกจากระบบ (Exiles) แต่เมื่อชีวิตถูกกระตุ้นจากสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับอดีต ตัวตนกลุ่มนี้ก็จะเปิดเผยออกมาเป็นความรู้สึก (Emotions) สิ้นหวัง หมดพลัง เจ็บปวด ไร้คุณค่า ไร้อำนาจ ถูกทอดทิ้ง ว่างเปล่า ละอายใจ หรือ มีความกลัว เป็นต้น ผ่านเสียงภายในว่า “ฉันไม่ดีพอ ฉันมันไม่น่ารัก ฉันถูกทิ้ง ฉันไว้ใจใครไม่ได้ ฉันโดดเดี่ยว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเราได้สร้างตัวตนผู้พิทักษ์ (Protectors) ที่คอยปกปักรักษาตัวตนเด็กน้อย (Exile) เพื่อให้ไม่ต้องแสดงความเปราะบางออกมา ตัวตนผู้พิทักษ์นั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตัวตน ได้แก่ กลุ่มตัวตนผู้จัดการ (Managers) และกลุ่มตัวตนนักดับเพลิง (Firefighters).

👉3. ผู้พิทักษ์ ระดับ 1: ผู้จัดการ (Managers)

เป็นตัวตนที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ดูแลจัดการให้เราพร้อมสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อให้เรามีชีวิตที่ราบรื่น กลุ่มตัวตนแบบผู้จัดการที่สุขภาพดี (Healthy Managers) จะช่วยดูแลเรื่องการกิน การนอน การเรียน การงาน การเงิน การปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม เพื่อให้เรามีปฏิสัมพันธ์ที่สอดคล้องไปกับโลกภายนอกได้ ในขณะเดียวกัน หากผู้จัดการแบกรับภาระงานมากเกินไป (Unhealthy Managers) เขาอาจหวาดกลัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การพูดในที่สาธารณะ การสัมภาษณ์งาน การสมัครงาน เป็นต้น พวกเขาจึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้ เพราะรู้สึกว่าจะส่งผลเสียต่อชีวิตของพวกเขา รวมถึงอาจยึดบทบาทเป็น ผู้ปกป้อง ผู้ควบคุม คอยประเมินตัดสินตัวเองและผู้อื่น มุ่งความสำเร็จเพื่อพิสูจน์ตนเอง คอยดูแลเอาอกเอาใจผู้อื่น มองโลกในแง่ร้าย เป็นกังวล หรือเป็นคนที่มักจะปฏิเสธสิ่ง ๆ ต่างอยู่เสมอ และคิดว่าบทบาทที่ยึดอยู่นั้นถูกต้อง บทบาทนั้นจึงถูกขยาย มีอิทธิพลต่อชีวิตมากขึ้น ๆ จนทำให้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง เช่น รักคนอื่นแต่เกลียดตัวเอง, ชื่นชมคนอื่นได้ง่าย แต่ชื่นชมตัวเองได้ยาก, ประสบความสำเร็จในงาน แต่สานความสัมพันธ์ไม่ได้, มีเหตุผล จนไร้ความรู้สึก, ปกป้องคนอ่อนแอ แต่ทำร้ายคนเข้มแข็ง เป็นต้น

👉4. ผู้พิทักษ์ ระดับ 2: นักดับเพลิง (Firefighters)

ตัวตนนี้จะปรากฏขึ้นเมื่อเด็กน้อย (Exile) ถูกกระตุ้น รู้สึกได้รับอันตราย และผู้จัดการ (Manager) ไม่สามารถช่วยได้แล้ว เหมือนกับบ้านถูกเพลิงไหม้ขึ้น ตัวตนนักดับเพลิง (Firefighter) จึงพยายามเข้าควบคุมและดับความรู้สึกเหล่านั้น กลุ่มตัวตนแบบผู้จัดการ (Managers) และกลุ่มตัวตนแบบนักดับเพลิง (Firefighters) มีเป้าหมายที่จะปกป้องเด็กน้อย (Exile) เหมือนกัน แต่มีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มตัวตนแบบผู้จัดการ (Managers) จะทำหน้าที่ในสถานการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน หรืออาจเรียกว่าเป็นบทบาท (Roles) โดยเน้นใช้ฐานคิด (Head) เป็นส่วนใหญ่ เพื่อวางแผนให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ในขณะที่ กลุ่มตัวตนแบบนักดับเพลิง (Firefighters) จะปรากฏเป็นระยะ ๆ หรืออาจเรียกว่าเป็นพฤติกรรม (Behaviors) ที่จะแสดงออกโดยทันที เมื่อรู้สึกว่าตัวตนของเด็กน้อย (Exile) กำลังตกอยู่ในอันตราย โดยเน้นแสดงออกโดยใช้ฐานกาย (Body) เช่น การใช้ยาเสพติด การดื่มกินจุกจิกมากเกินไป การทำร้ายตัวเอง การพยายามฆ่าตัวตาย การส่ำส่อนทางเพศ การลักขโมย การเล่นการพนัน และการเคียดแค้น เป็นต้น

❤️ สร้างความกลมเกลียวภายใน

มนุษย์มักเห็นใจผู้อื่น เมื่อเห็นเขากำลังอ่อนแอ นั้นแสดงว่ามนุษย์ทุกคนมี “ความกรุณา” อยู่เป็นพื้นฐานภายในจิตใจ เพียงแต่ว่าเมื่อตัวเราเองเกิดความอ่อนแอขึ้น เรามักจะไม่ให้โอกาศตัวเองได้เปิดเผยความเปราะบางนั้นออกมา (Vulnerable) นั่นก็เพราะเรารู้สึกไม่ปลอดภัยเพียงพอ ตัวตนผู้พิทักษ์ (Protectors) จึงปรากฏขึ้นเพื่อแสดงออกว่า ฉันเป็นคนที่เข้มแข็งอยู่เสมอ ฉันเป็นคนที่เก่งอยู่เสมอ ฉันเป็นคนดีที่ทำถูกต้องอยู่เสมอ ฯลฯ ตัวตนต่าง ๆ ในระบบครอบครัวภายใน จึงไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันอย่างถ้วนทั่วและซื่อตรง เกิดเป็นความปั่นป่วนภายในที่ส่งผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ภายนอก ทำให้รู้สึกผิดบ่อย ๆ จากสิ่งที่ได้ทำลงไป ทั้งหมดนี้ เกิดจากความขัดแย้งภายในตนเอง

หัวใจของการสร้างความกลมเกลียวภายใน คือความปลอดภัยทางใจ (Psychological Safety) โดยหมั่นชื่นชม ให้ความเคารพ และมอบความรักให้กับตัวตนผู้พิทักษ์ (Protectors) ทั้งแบบผู้จัดการ (Managers) และแบบนักดับเพลง (Firefighter) ที่มีอยู่ทั้งหมดภายในจิตใจของเรา ประกอบกับการฝึกฝนภาวนาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ใจของเราได้สัมผัสกับสภาวะที่ใจเป็นอิสระจากเสียงตัดสิน ห้วงเวลาเช่นนี้ จะนำพาให้เราพบกับสภาวะที่ IFS เรียกว่า “Self” เป็นสภาวะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้าใจและความรัก เกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวตนภายในของเราได้สนทนา ปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างปลอดภัย

บางทีผมอยากจะเรียกสภาวะนี้ว่า การปรากฏขึ้นของ “Inner Facilitator” เพราะตัวตน Self จะเป็นเหมือน Facilitator ที่จะนำการสนทนาด้วยใจที่เป็นอิสระจากเสียงตัดสิน เกื้อกูลให้ตัวตนต่าง ๆ ที่อาจมีหลายเฉดมากกว่าที่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ให้มีที่มีทาง ได้รับความเข้าใจและความรัก เกิดเป็นความกลมเกลียวภายในจิตใจของเราครับ

ขอบคุณประสบการณ์งานเยียวยากับ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู และการภาวนากับหมู่บ้านพลัม

References:

  • IFS Institute. (n.d.). The Internal Family Systems Model Outline. Rizzo, A. (2021, February 15). IFS Protector Parts (Managers and Firefighters) – What Are They?
  • Susan Marie Carter. (1998). A Study of the Internal Family Systems Model Applied to Remarried Couples of Stepfamilies in Different Stages of Adjustment. Andrews University.
เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments