อำนาจกับวิถีแห่งจิตวิญญาณ : the power of spirituality

งานเขียนนี้ คือ บันทึกการเรียนรู้ จากการได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ กับอาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม ในหัวข้อ “อำนาจกับวิถีแห่งจิตวิญญาณ” ที่สวนอาศรมวงศ์สนิท ตั้งแต่วันที่ 16-18 กันยายน 2559

the-power-of-spirituality1

Body Scan

การเน้นกลับมาดูแลฐานกายเพื่อเพิ่มช่องว่างระหว่างความคิดที่มากมาย ปรับผ่อนความเครียด ผ่านทางร่างกาย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนกลางลำตัว และ ส่วนใต้ก้นกบลงไป รักตัวเองให้ได้ก่อนสิ่งอื่นใด ด้วยการกลับมาดูแลร่างกายตัวเองให้ผ่อนคลาย สมดุล และ มั่นคง “ขมิบก้น แขม่วท้อง หายใจเข้าลึก…ให้ถึงก้นกบ หายใจออก… ผ่อนคลายส่วนล่าง ส่วนกลาง ส่วนบน รับรู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว จากการหายใจ รับรู้ความรู้สึกทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง”

Original Mind

จิตที่สดใหม่ หรือ จิตผู้เริ่มต้น (beginner’s mind) เสมือนฟ้าใสไร้ก้อนเมฆ ก้อนเมฆเปรียบเสมือนความคิด ฟ้าจะใสได้เราต้องเปิดช่องว่างระหว่างความคิด ไม่ให้เมฆความคิดไหลมาปกคลุมทับถมอย่างต่อเนื่อง จนเป็นมรสุม อาการนอนไม่หลับ และ อาการซึมเศร้า ก็คือ เมฆความคิดปกคลุม การสร้างช่องว่างความคิด ทำได้ด้วย การทำกิจกรรมที่ช่วยให้จิตของเรา กลับมารู้ อยู่กับร่างกายของเราเอง เช่น วาดรูป เล่นโยคะ เล่นกับเด็กๆ นั่งสมาธิ ทำสวน ฯลฯ ให้คลายจากความคิดต่างๆ อันได้แก่ ความคิดคร่ำครวญถึงความทรงจำในอดีต การฟุ้งซ่านถึงโครงการในอนาคต การตีความแบบอัตโนมัติตามความคุ้นชิน และ การจินตนาการเกินความเป็นจริง เป็นต้น

Mindful Listening

การฟังด้วยหัวใจ อย่างมีสติ (mindful listening) ตระหนักรู้ว่า ณ ขณะที่ฟัง ผู้พูดนั้นสำคัญที่สุดในโลก ผู้ฟังต้องฟังด้วยจิตว่าง (ฟ้าใสไร้ก้อนเมฆ) เป็นประจักษ์พยาน (bearing witness) คอยดูแลร่างกายของตัวเองให้ผ่อนคลาย สมดุล มั่นคง และ เปิดกว้าง เคารพประสบการณ์ของผู้พูด ไม่ตัดสิน ไม่แนะนำ ไม่เล่าเรื่องของตัวเอง ไม่จดบันทึก ไม่ออกท่าที ที่ไปจัดการบางสิ่งบางอย่างของผู้พูด เป็นต้น

the-power-of-spirituality

Power Analysis

ให้เราวิเคราะห์อำนาจของตัวเองในหลายๆมิติ (source of power) แล้วให้คะแนนกับตัวเอง (1-10 คะแนน) ใน 3 กรณี คือ เมื่ออยู่ในครอบครัว เมื่ออยู่ในองค์กรที่ทำงานอยู่ และ เมื่ออยู่ในประเทศไทย ในแต่ละกรณี ภายหลังให้คะแนนตนเองแล้ว ให้จับคู่สนทนากับเพื่อน สะท้อนว่าเรารู้สึกอย่างไร อะไรทำให้เราให้คะแนนตัวเองเท่านี้ และ อำนาจของเรามีส่วนเกื้อหนุนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อย่างไร

Power Over

คือ สถานการณ์ ความสัมพันธ์ ที่มีการใช้อำนาจที่กดข่ม ไม่เสมอภาค เกิดความยากลำบากต่อผู้อื่น ตัดสินใจแทน ซึ่งแตกต่างจากการใช้อำนาจตามบทบาทหน้าที่ (authority) ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้งานขับเคลื่อนไปได้อย่างเหมาะสม

ในปัจจุบัน การใช้อำนาจขับเคลื่อนเกินพอดี จนทำให้ผู้อื่นรู้สึกยากลำบาก หรือ Power Over ได้กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไปแล้ว เมื่อเราได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่เป็น Power Over เรามีแนวโน้มที่จะแนะนำให้ฝ่ายถูกใช้อำนาจกดข่มปรับตัว แทนที่จะหยุดยั้งการใช้ Power Over ของฝ่ายที่มีแหล่งอำนาจ (source of power) เหนือกว่า

Power Sharing

คือ สถานการณ์ ความสัมพันธ์ ที่มีการใช้อำนาจอย่างเสมอภาค เปิดพื้นที่อิสระ ให้เกิดการระดมความคิดเห็นร่วมกัน ตัดสินใจเอง ออกแบบวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายด้วยตนเอง

Power Within

คือ สภาวะที่มีอำนาจจากด้านใน สามารถโอบรับความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรม ความไม่สมบูรณ์แบบจากภายนอก ได้อย่างมั่นคง ด้วยสันติวิธี เพื่อหยุดยั้งการเบียดเบียน ความรุนแรงในสังคม

the-power-of-spirituality2

Oppression

การกดขี่ (Oppression) ประกอบด้วย การกดขี่ทางตรง ที่เกิดจากการใช้อำนาจเกินพอเหมาะพอดี (Power Over) และ การกดขี่เชิงโครงสร้าง ที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคม (Social Structure) และ องค์กรในสังคม (Organizations in Society) เช่น สื่อ ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ เพลง นิยาย ศิลปะ ศาสนา ระบบเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา สาธารณสุข กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

2 แนวทาง ลดความรุนแรงในสังคม

❤️ ทางที่ 1) Social Service

การเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา บรรเทาทุกข์ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เรียกกว่า “Social Service” สามารถทำได้ด้วยการ ช่วยเหลือแบบสงเคราะห์เพื่อบรรเทาทุกข์แบบชั่วครั้งชั่วคราว หรือ การเพิ่มพลังอำนาจ (Empowerment) ให้กับกลุ่มที่ถูกกดขี่ ด้วยการระดมคนตัวเล็กตัวน้อย ให้มารวมพลังกันจำนวนมาก ๆ จนกว่าจะมากเพียงพอที่จะสื่อสารออกมาได้อย่างมีพลัง ให้สังคมหันมามอง รวมถึงการเชิญคนที่มีแหล่งอำนาจ (Source of Power) ที่มากเพียงพอให้มาเสริมพลัง และสร้างเวทีให้เกิดการแบ่งปันความคิดเห็น (Power Sharing)

❤️ ทางที่ 2) Social Change

การเข้าไปช่วยเหลือด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เรียกว่า “Social Change” ผู้ที่ทำได้จะต้องมีแหล่งอำนาจ (Source of Power) ที่เพียงพอ มีหลักการและวิธีการ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และ สิ่งสำคัญคือการมีจิตสำนึกที่เหนือไปกว่าการปฏิบัติตามหน้าที่ “ฉันไม่ได้ทำเพราะเป็นงานของฉัน แต่ฉันทำเพราะอยากเห็นสังคมที่สันติ ฉันทำ เพราะไม่อาจทนเห็นเพื่อนมนุษย์ถูกกดขี่ในสังคม”

Self-reflection

ภายหลังการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ รู้สึกถึงพลังขับเคลื่อนภายในถูกปลุกให้ตื่น เกิดการตระหนักรู้ต่อสังคม (Social Awareness) มากขึ้นอย่างล้นหลาม แท้จริงเราทุกคนล้วนมีความกรุณาอยู่ภายใน เราต่างต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่ความคิดนั้นก็อาจหลับใหลไปได้ง่ายๆ ด้วยเพราะไม่รู้ว่ามีปัญหาซ่อนอยู่ในรูปแบบใด และ เราต้องทำอย่างไร การได้มาเรียนรู้ ทำให้พบว่าสังคมยังต้องการกำลังคนที่จะมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ และ มีวิธีการอยู่ เราสามารถเริ่มต้นลดการกดขี่ (Oppression) ในสังคมรอบตัวเรา ทั้งทางตรงและในเชิงโครงสร้างได้ในทันที

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments