พัฒนาชีวิตจากภายใน : fist of the north star

ว่าด้วยเรื่องการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ในปี 1906 เราตื่นเต้นกับ IQ และ พยายายามจะพัฒนามัน ปัจจุบันเราพบว่า IQ อาจช่วยให้มนุษย์พบกับความสำเร็จในการงานได้เพียง 1-20% เท่านั้น ต่อมาในปี 1983 เราพบว่าอัจฉริยะมีหลากหลายสาขา เรียกว่า ทฤษฎีพหุปัญญา (multiple intelligence theory) เราจึงพยายามค้นหาความสามารถพิเศษ แล้วเน้นพัฒนาชีวิตให้สุดยอดในด้านใดด้านหนึ่ง ปัจจุบัน ความหลากหลายทางปัญญานั้น ได้เพิ่มมากขึ้น และ มีทีท่าว่าจะเพิ่มมากขึ้นๆ จนทำให้เราไม่สามารถยึดทฤษฎีนี้มาเป็นแก่นแกนในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ครอบคลุมกับทุกคนได้ และ การเก่งสุดๆเพียงด้านใดด้านหนึ่งอาจทำให้ชีวิตขาดสมดุลได้ ต่อมาในปี 1990 เราเริ่มต้นพัฒนาการเรียนรู้บนรากฐานของสมองตามช่วงวัย (brain based learning) ปัจจุบัน เริ่มค้นพบว่าสมองไม่ใช่ศูนย์กลางของปัญญาในทุกๆด้าน ปัญญาที่แท้จริงนั้น อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของสมอง ต่อมาในปี 1995 เราพบว่า EQ เจ๋งกว่า IQ กล่าวคือ ผู้มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี มีโอกาสประสบความสำเร็จทางการงานสูงถึง 27-45% เลยทีเดียว ภายหลังปี 2000 ยังมีทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ ออกมาให้เราตื่นเต้นอีกมากมาย

ทฤษฏีการเรียนรู้ใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปบางเสี้ยวส่วนของทฤษฎีนั้นก็ถูกลดความสำคัญลงไป เนื่องจากมีทฤษฎีใหม่ๆ ที่เหมาะสมตามกาลเวลาเข้ามาทดแทน ความสดใหม่ของทฤษฎีอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณค่าของทฤษฎีอีกต่อไป การเฝ้าสังเกตจุดร่วมที่เป็นแก่นแกนของทฤษฎีต่างๆ ที่ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ คือ สิ่งที่น่าศึกษา และ อนาคตจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีของอนาคต การเรียนรู้เพื่อล่วงรู้วิธีการค้นพบทฤษฎี จึงคือ สิ่งที่น่าสนใจ

fist-of-the-north-starมีการ์ตูนที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ (fist of the north star) พระเอกมีชื่อว่า เคนชิโร่ (kenshiro) เป็นผู้มีความสามารถพิเศษในการใช้หมัด หรือ แค่ใช้ปลายนิ้วสัมผัสแตะเข้ากับผิวของเหล่าศัตรู พลังงานจะถ่ายเทเข้าสู่ภายในร่างกาย จากนั้นจึงระเบิดออกมา หากการระเบิดจากภายในสู่ภายนอกนั้นเป็นไปในทางสร้างสรรค์ วิชาหมัดเทพเจ้าดาวเหนือ อาจคือ คัมภีร์การเรียนรู้ที่เรากำลังตามหา เพราะว่าแก่นแกนของทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ นั้น เกิดขึ้นจากภายใน หากทฤษฎีการเรียนรู้ทั้งหมด ถูกยุบลงให้สั้นโดยคงส่วนร่วมไว้ อาจหลงเหลือเพียงถ้อยคำว่า “การพัฒนาความสามารถในการตระหนักรู้อย่างลึกซึ้ง ถึงทุกสรรพสิ่ง จากภายในตัวเอง” เมื่อเป็นเช่นนี้ เราอาจแยกสภาวะตามห้วงขณะของชีวิต ได้เป็น 2 โหมด คือ โหมดขาดสติ และ โหมดมีสติ

โหมดขาดสติ

Reptilan_Limbic_Neocortexสมองส่วนต้น (reptilian brain) จะทำงานเป็นหลัก เป็นส่วนสมองที่วิวัฒนาการมาจากสัตว์เลี้อยคลาน พฤติกรรม การแสดงออกต่างๆ เกิดจากการตอบสนอง ด้วยระบบประสาทที่มีไว้เพียงเพื่อความอยู่รอดพื้นฐาน ได้แก่ การกิน การขับถ่าย การสืบพันธุ์ อาจเรียกพฤติกรรมที่แสดงออกมาในโหมดขาดสติอีกอย่างหนึ่งได้ว่า โหมดปกป้อง (defense mechanism) โดยจะแสดงออกมาในรูปแบบของการ สู้แบบขาดสติ (fight) หนีแบบขาดสติ (flight) หรือไม่ก็ นิ่งแบบขาดสติ (freeze) อย่างไรก็ตามสมองส่วนต้น (reptilian brain) เมื่อได้รับการพัฒนาก่อประกอบขึ้นพร้อมสติ จะช่วยให้มนุษย์สามารถอยู่รอดได้อย่างมั่งคง มีความมุ่งมั่น ว่องไว ทำการงานได้อย่างคล่องแคล่ว และ แม่นยำ

โหมดมีสติ (ศิลปะการใช้ชีวิต 3 โหมด)

คิดถึงตัวแปรในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่ประกอบด้วย 3 ประเภท คือ ตัวแปรต้น (independent variable) ตัวแปรตาม (dependent variable) และ ตัวแปรควบคุม (controlled variable) พอนำมาหลอมรวมเข้ากับแนวคิดต่างๆ ในการพัฒนาตัวเอง ที่ต้องดำเนินไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นการเฉลียวมองว่าเราเป็นเพียงตัวแปรหนึ่งในธรรมชาติเท่านั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวม จึงกลายมาเป็น ศิลปะการใช้ชีวิต 3 โหมด ดังต่อไปนี้ครับ

runwisdom_new_heart_new_world1. โหมดผู้นำ (independent mode) คือ การริเริ่มการกระทำต่างๆ ที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปตามแผน หรือ เป้าหมายที่สร้างสรรค์ตามแบบที่ตัวเองต้องการ ส่งผลที่ดีต่อภาพรวม ทำทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอเงื่อนไขให้ครบถ้วนสมบูรณ์ สร้างโอกาสเองโดยไม่รอคอยโอกาส Stephen R. Covey อธิบายการใช้ชีวิตโหมดนี้ โดยใช้คำว่า “pro active” เขียนไว้ในหนังสือ ชื่อ “7 habits of highly effective people”

2. โหมดผู้ตาม (dependent mode) คือ การแปรเปลี่ยนชีวิตไปตามสภาพแวดล้อมที่พบเจอ เผชิญการเปลี่ยนแปลงแล้วไม่อึ้ง ทำความเข้าใจได้เร็ว ยอมรับความจริง มองภาพรวม ใช้ประโยชน์ตามกระแสได้เก่ง เป็นผู้นำในเงาผู้ตาม สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับบทบาทผู้นำ Charl Darwin บิดาแห่งทฤษฎีของวิวัฒนาการ กล่าวว่า “ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดหรอกที่อยู่รอด แต่เป็นผู้ที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก”

3. โหมดควบคุม (self-controlling mode) ดำรงชีวิตอยู่อย่างเดิม รอคอยเวลาได้ อาจเรียกว่าโหมดบ่มเพาะ ซุ่ม ชาร์จพลังชีวิต ควบคุมตัวเองให้ฝึกฝน ฝึกฝืนได้ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ หากกำลังฝึกฝน ในสิ่งที่คุ้นชินก็คือการสั่งสมประสบการณ์ หากกำลังฝึกฝืน ในสิ่งที่ไม่คุ้นชินก็คือการสร้างพฤติกรรมใหม่ มีงานวิจัยพบว่าพฤติกรรมเล็กๆ ของมนุษย์ (minor habit) เช่น การตื่นเช้า, การออกกำลังกาย มนุษย์ต้องฝึกฝืน 21 วัน ในขณะที่พฤติกรรมหลักๆ ของมนุษย์ (major habit) เช่น การเลิกสูบบุหรี มนุษย์ต้องการฝึกฝืน 66 วัน การฝึกฝืนก็คือการว่ายทวนกระแสที่คุ้นชินเดิมๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นพฤติกรรมใหม่

reptilian_brain_developed

? การพัฒนาชีวิตจากภายใน อาจไม่ใช่การดำรงตน อยู่ในโหมดใดโหมดหนึ่งเพียงโหมดเดียว แต่เป็นการเลือกโหมดชีวิตให้เหมาะสม กับสถานการณ์ตามห้วงขณะเวลา สิ่งที่สำคัญก็คือ การดำรงอยู่ในปัจจุบันด้วยสติ เกิดประโยชน์แบบองค์รวม

  • ใช้สติ แปรเปลี่ยนจากโหมดสู้ (fight) มาเป็นโหมดผู้นำ คือ ทำทันท่วงที
  • ใช้สติ แปรเปลี่ยนจากโหมดหนี (flight) มาเป็นโหมดผู้ตาม คือ ปรับตัวได้เร็ว
  • ใช้สติ แปรเปลี่ยนจากโหมดนิ่ง (freeze) มาเป็นโหมดควบคุม คือ ฝึกฝืนให้เป็น

ความสามารถในการตระหนักรู้อย่างลึกซึ้ง ถึงทุกสรรพสิ่ง จากภายในตัวเอง จากระดับจิตใจ แล้วแสดงผลออกมาเป็นคำพูด และ การกระทำอย่างเหมาะสมตามห้วงขณะเวลา นี่ก็คือ การพัฒนาชีวิตจากภายใน หรืออาจเรียกว่า วิชาหมัดเทพเจ้าดาวเหนือ (fist of the north star) ที่ทุกคนสามารถฝึกได้ ด้วยการเจริญสติ (mindfulness practices)

บางคนอาจเคยทดลองเชื่อมโยงธรรมะ เพื่อประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการภายนอกตัว แล้วกลับพบว่าไม่ลงตัว ใช้ไม่ได้จริง ขาดๆเกินๆ สลับขั้นตอน ผิดที่ผิดทาง แต่เมื่อนำธรรมะกลับมาใช้จัดการภายในตัวเองจนเข้าที่ เข้าทาง เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้แล้วจึงกลับไปประยุกต์ใช้ธรรมะ ในการบริหารจัดการภายนอกตัวอีกครั้ง คราวนี้กลับพบว่า ทุกอย่างช่างลงตัว การพัฒนาที่เริ่มต้นจากภายใน จึงอาจคือ ขุมทรัพย์แห่งจักรวาล ที่น่าค้นหา

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments