การสื่อสารภายในองค์กร : Open Mind Open Heart Open Will

การได้ร่วมทีมกระบวนกร ในคอร์สกระบวนกรพื้นฐาน 3 วัน กับอาใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ตั้งแต่วันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งผลต่อพัฒนาการทักษะการเป็นกระบวนกรของตัวเอง ในส่วนงานที่จะสามารถเข้าไปพัฒนาการสื่อสาร ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นให้กับบุคลากรภายในองค์กร งานเขียนนี้เกิดจากการวิเคราะห์ เรื่องราวใน Workshop ผสมเข้ากับ การนำทฤษฎีอื่นๆ มาสังเคราะห์ประกอบต่อยอด เพื่อการเรียนรู้

การสื่อสารด้วยใจ อาจคือ ประสบการณ์ที่เลือนหายไปจากผู้คนในองค์กร เมื่อข้ามขอบสัมผัสถึงประสบการณ์ใหม่ ในการสื่อสารกันแบบตรงมาตรงไป ทำให้สะท้อนย้อนคลี่คลายถึงปมเล็กๆ ภายในของแต่ละคนเองได้ด้วย ก่อเกิดการเริ่มต้นใหม่ในมุมคิด พฤติกรรม และ วัฒนธรรมแห่งการสื่อสารภายในองค์กร

กิจกรรมพูดเปิดใจแบบตรงมาตรงไปสำเร็จลุล่วงได้หรือไม่ อาจสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังกิจกรรม ผู้คนในองค์กรข้ามขอบเดิมๆ สามารถสื่อสารกันอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นภายในองค์กร หรือ เพียงย้อนกลับเก็บงำความคิดตัดสิน สู่ความคุ้นชินเดิมๆ

หลักสูตร กระบวนกรพื้นฐาน 3 วัน (3-5 ก.พ. 59)

ปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อความสำเร็จในกิจกรรมพูดเปิดใจ อาจประกอบด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ผ่านพ้นการฟังแบบตัดสิน (I-in-me) สู่การฟังในอีก 3 ระดับ ที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น คือ

1. Open Mind (I-in-it)
ให้ความอยากรู้ (Curiosity) เข้าแทนที่การตัดสิน (Judgement)

“I am undecided; I am willing to listen…”
“ฉันไม่ตัดสิน ฉันอยากจะฟังสิ่งที่เธอพูด”

2. Open Heart (I-in-you)
ให้ความกรุณา (Compassion) เข้าแทนที่ อคติ (Cynicism)

“I respect this person and will open my heart to them.”
“ฉันเคารพบุคคลคนนี้ และ จะเปิดใจของฉันฟังเขา”

3. Open Will (I-in-now)
ให้ความมุ่งมั่น (Willingness to Response) เข้าแทนที่ ความกลัว (Fear)

“If necessary I will act on what I hear.”
“ถ้าจำเป็น ฉันจะแสดงออกในสิ่งที่ฉันได้ยิน”

ปัจจัยอื่นๆ สู่ความสำเร็จในการสื่อสาร คือ การยอมรับตัวตนของตัวเอง และ ผู้อื่น (Personality) ความสามารถในการเปิดใจรับฟัง คือ เป็นคนใจกว้าง อุปมามากกว่าแค่ภาชนะทีว่างเปล่า แต่อาจต้องกว้างใหญ่ดั่งหุบเหวที่สามารถรองรับ ฟังเสียง (Feedback) ผู้อื่นได้แบบตรงมาตรงไป แม้เป็นความคิดเห็นที่ผิดไม่ตรงกับใจของเรา ก็สามารถรับฟังได้อย่างกรุณา (Compassionate Listening) นอกจากนี้ การสื่อสารภายในองค์กร อาจต้องลดตัวต่ำลง วางจากตำแหน่ง วัยวุฒิ คุณวุฒิ ดั่งพื้นมหาสมุทรที่ลดตัวต่ำ จนสามารถรองรับ แม่น้ำ ลำธาร ให้ไหลลงมาได้อย่างอิสระ และ ความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวกระบวนกร และ กระบวนการ ว่าจะสามารถนำพาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น กระบวนกรสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เข้าร่วมกระบวนการ กล้าเปิดเผย พูดเปิดใจได้อย่างตรงมาตรงไป โดยใช้คำพูดเชิงร้องขอ แทนการต่อว่าตัวบุคคล

อีกสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะภายหลังการขุดคุ้ยปม หรือ เปิดใจสื่อสารแบบตรงมาตรงไป คือ ความเข้าใจในการเริ่มต้นใหม่ (Beginning Anew) คือ เข้าใจว่า ทุกๆ ลมหายใจเข้าออกของเราในทุกขณะนั้น คือ ลมหายใจใหม่ ทุกๆ วินาที เซลล์ต่างๆ ในร่างกายของเรามีการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักเผลอยึดมั่นอยู่ก็คือ ความคิด ซึ่งความคิดอาจกลายเป็นลูกศรที่ย้อนกลับมาทำร้ายให้เราเจ็บปวดได้ทุกขณะ โดยที่ไม่จำเป็น ความจริงแล้ว ความคิด ก็สามารถเริ่มต้นสู่ความสดใหม่ สดใส ได้ตลอดเวลา เมื่อทุกคนในชุมชน หรือ องค์กรของเราเข้าใจดังนี้  ความครุ่นคิดถึงอดีตจะคลายไป กลับสู่ความจริงแท้ ที่ทุกคนสามารถเป็นคนใหม่ได้ทุกเวลา ในปัจจุบัน

งานเขียนที่เกี่ยวข้อง

เรื่อง การเริ่มต้นใหม่ – Beginning Anew โดย รัน ธีรัญญ์

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments