ผู้นำตามสภาวการณ์ : situational leadership

การเคลื่อนที่จากบทบาทหนึ่ง สู่อีกบทบาทหนึ่งอย่างเหมาะสม เช่น เคลื่อนที่จากการเป็นผู้นำในที่ทำงาน สู่การเป็นคุณพ่อในบ้าน เคลื่อนที่จากการเป็นผู้เชี่ยวชาญ สู่การเป็นนักเรียนรู้ที่สดใหม่ เคลื่อนที่จากการเป็นนักพูด สู่การเป็นผู้ฟังที่ปราศจากความอยากพูด นอกจากต้องฝึกฝนทักษะในบทบาทนั้นๆให้ได้อย่างดีแล้ว เราอาจจำเป็นต้องเรียนรู้ ศิลปะแห่งการแปรเปลี่ยนบทบาท จะทำอย่างไรให้สามารถเคลื่อนย้ายออกจากตัวตนเดิม ไปสู่ตัวตนใหม่ ได้แบบพริ้วไหวไร้เงา เท่าทันห้วงเวลาแห่งปัจจุบันขณะ

becoming

ศิลปะการเคลื่อนย้ายตัวตน

การเชื่อแบบเดิมๆ ว่าเราเป็นคนแบบนี้ จะพูดจาแบบนี้ล่ะ คิดว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว จะทำให้เราจมจ่อม อยู่ในบุคลิกภาพแบบเดิมๆ พบปัญหาแบบเดิมๆ ซ้ำๆ กระทำสิ่งต่างๆด้วยวงจรสมองอัตโนมัติ ตราบเมื่อค้นพบตัวตนหลักของตัวเอง แล้วยอมรับ จนสามารถถอดถอนตัวตนเดิมๆได้ ก็จะสามารถย้ายไปสู่ตัวตนใหม่ๆ พัฒนาบุคลิกภาพแบบใหม่ๆ มากขึ้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย เกิดเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และ สังคม ศักยภาพแห่งชีวิตเปิดกว้าง สามารถสวมตัวตนหนึ่ง ณ ขณะหนึ่ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ยึดมั่นในการเป็นตัวตนใดๆ

อย่าฝั่ง chip ว่าเราทำได้เพียงเท่าที่มีใครบอก อย่ายึดติดกับเป้าหมายในวัยเด็ก ที่เราเคยถูกถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรจ๊ะ” เราสามารถขยับขยายความฝันของเราให้เหมาะสมมากขึ้นได้ เมื่อเราเติบโต ได้เห็นโลกที่กว้างใหญ่มากขึ้น มนุษย์สามารถเป็นได้ทุกอย่าง สำเร็จได้ในทุกสิ่งที่ต้องการ ตามวิสัยทัศน์ที่สัมผัสได้ถึง จักรวาลยังคงเคลื่อนไหว ธรรมชาติแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ และ เราสามารถเคลื่อนย้ายตัวตนได้

นอกจากนี้ การพัฒนาศิลปะแห่งการเคลื่อนย้ายตัวตน เป็นปัจจัยสำคัญช่วยส่งเสริม วุฒิภาวะแห่งสัตบุรุษ (eldership) คือ ให้เกียรติ อยู่เคียงข้างทุกๆคน มีจิตใจที่กว้างใหญ่ อยู่เหนือยุทธศาสตร์ใดๆ ไปไหนมาไหน ย่อมได้มิตรภาพ

Situational_Leadership

ผู้นำตามสภาวการณ์ (situational leadership)

เมื่อเราสามารถเคลื่อนย้ายตัวตนได้ เราก็สามารถกลายเป็นผู้นำตามสภาวการณ์ (situational leadership) ปรับบทบาทตัวเองตามสภาวะของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม สามารถเปลี่ยนแปลงผู้เรียน ให้กลายเป็นผู้นำได้ ด้วย 4 สภาวการณ์ ดังนี้

  1. ✿ ให้ทิศทาง (directing)
    เมื่อผู้เรียนไม่รู้อะไรเลย ให้บอกสอน เป็นลำดับขั้นตอน กำหนดบทบาทให้กับแต่ละคน ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วทำไปทำไม ?
    .
  2. ✿ โค้ช (coaching)
    เมื่อผู้เรียนได้รู้ข้อมูล มีความรู้บ้างแล้ว ให้เป็นเพื่อนชวนคิด ตั้งคำถามแทนการบอกสอน ให้เกิดแรงจูงใจ เห็นคุณค่า ให้เกิดการตระหนักรู้ได้เองว่า ต้องทำอะไรต่อไป
    .
  3. ✿ สนับสนุน (supporting)
    เมื่อผู้เรียนกำลังจะลงสนาม เริ่มต้นทำจริง ให้คอยแนะนำเครื่องมือที่เหมาะสม ช่วยเปิดเส้นทาง ช่วยแก้ไขปัญหาเล็กๆน้อยๆ ช่วยกระตุ้นให้กล้าหาญ ลงมือทำจริง
    .
  4. ✿ มอบหมาย (delegating)
    เมื่อผู้เรียนผ่านประสบการณ์บ้างแล้ว ให้เปิดโอกาส ให้อำนาจในขอบเขตงานอย่างเต็มกำลัง (มอบกระบี่อาญาสิทธิ์) สังเกตการณ์ มองภาพรวม คอยตอบคำถาม

ผู้นำตามสภาวการณ์ เทียบเคียงกับ ผู้นำสี่ทิศ

? Directing : ผู้นำหมี – ให้ทิศทาง❤️
? Coaching : ผู้นำหนู – คลุกคลี ชวนคิด❤️
? Supporting : ผู้นำกระทิง – กระตุ้นให้กล้า❤️
?Delegating : ผู้นำอินทรี – เฝ้าดู ชื่นชม❤️

เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

Comments

comments