ทักษะการโค้ชบนพื้นฐานสติ : Mindfulness Based Coaching Skills

วันเสาร์ ที่ 19 กันยายน 2558 เป็นอีกหนึ่งวันที่ได้รับความรู้ด้านการโค้ชอย่างทะลักทะล้น พร้อมกับการฝึกฝนทักษะการโค้ชควบคู่กันไปด้วย ในระหว่างที่ฝึกฝนนั้นก็ได้ตกผลึกความคิดเพื่อการฝึกฝนครั้งต่อไปเช่นกัน จึงจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องรีบจัดระเบียบข้อมูลความรู้ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะการโค้ช ให้เป็นไปอย่างลื่นไหล เหมือนกับได้ฝึกเล่นกีตาร์ ในขั้นที่จับคอร์ดเป็นบ้างแล้ว ความสนุกในการฝึกย่อมบังเกิด พัฒนาการในการฝึกย่อมเพิ่มพูนอยู่ทุกขณะเช่นกัน ^^

การเรียนรู้ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 จากทั้งหมด 9 ครั้ง ในหลักสูตร Thai Coach รุ่นที่ 6 โดย สมาคมการโค้ชวิถีไทย หัวข้อการเรียนรู้ คือ ทักษะการโค้ชบนพื้นฐานสติ (Mindfulness Based Coaching Skills) กับ อ.รงค์ จิรายุทัต และ ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข 

ครั้นจะเขียนสรุปเนื้อหาทั้งหมดที่ได้เรียนรู้ ก็คงจะต้องเขียนแบ่งย่อยเป็นหลายบทความมาก บทความนี้ จึงจะเขียนในแง่มุม ช็อตเด็ดๆ ที่สติ (Mindfulness) เข้าไปมีส่วนสำคัญในการโค้ช ตามกระบวนการโค้ชวิถีไทย (Thai Coaching Process) ผสมผสานองค์ความรู้เพื่อการฝึกฝนของผู้เขียนเอง

Building Rapport

  • เกริ่นนำก่อนเปิดฉาก (Pre-frame)

    สร้างสติ โค้ชอาจใช้วิธีตามลมหายใจเข้า และ หายใจออกสักครู่ เพื่อสร้างสติให้กับตัวเอง ก่อนเริ่มทำการโค้ช การชวนผู้รับการโค้ช พูดคุยถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ในมิติที่สร้างสรรค์ เป็นบวก จะเป็นส่วนพัฒนานำพาให้ทั้งโค้ช และ ผู้รับการโค้ช เริ่มต้นพูดคุยด้วยสติ

    สร้างสายสัมพันธ์ และ ศรัทธา การมีสติเพื่อใส่ใจฟังอย่างเป็นปัจจุบัน ถอดถอนบทบาทหน้าที่ของการเป็นโค้ช ทำให้การพูดคุยทักทายกันเป็นธรรมชาติ เกิดความผ่อนคลาย น่าไว้วางใจ ทำให้ผู้รับการการโค้ชพร้อมเปิดใจให้ข้อมูลแก่โค้ช เพื่อประโยชน์ในการโค้ชได้อย่างเต็มที่

  • Intention & Time การบอกช่วงเวลาในการพูดคุย จะทำให้ผู้รับการโค้ชคลายความกังวลในเรื่องการบริหารเวลา ปล่อยวางอนาคตและดำรงอยู่ในช่วงเวลาแห่งการโค้ชได้อย่างเต็มที่ การบอกให้ผู้รับการโค้ชทราบถึงเจตนาความตั้งใจ จะทำให้ผู้รับการโค้ชเห็นถึงประโยชน์และให้ความร่วมมือ การบอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นขณะทำการโค้ช จะนำพาให้โค้ช และ ผู้รับการโค้ชเข้าใจล่วงหน้าตรงกัน ช่วยให้กระบวนการโค้ชลื่นไหลต่อเนื่อง

    Balanced Goal

    • การสร้างสายสัมพันธ์ (Rapport) ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง โค้ชใช้คำถามเพื่อให้ผู้รับการโค้ชได้พูดถึงเป้าหมายที่ต้องการ (Goal) โดยที่เป้าหมายต้องเป็นเป้าหมายเชิงบวก โค้ชต้องมีสติในการฟังอย่างลึกซึ้ง ไม่คิดเตรียมคำถามก่อน เพื่อให้การถามเป็นปัจจุบันจากสิ่งที่ได้ฟังจริง สามารถพูดทวนคำ (Back Tracking) นำสู่คำถามเพื่อให้ผู้รับการโค้ชได้อธิบายเป้าหมายของตัวเองได้อย่างแจ่มชัด (Clarify Goal) , อธิบายถึงภาพความสำเร็จ (Desired State) และ คุณค่าของเป้าหมาย (Value) เพื่อให้ผู้รับการโค้ชเกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง รวมถึงการถามเพื่อให้ผู้รับการโค้ช ได้บ่งชี้ถึงวิธีการวัดผล (Evidence) เพื่อให้ระลึกรู้ถึงความคืบหน้าในเป้าหมายที่เกิดขึ้นแล้ว และ ที่ต้องทำเพิ่ม


    Effects

    • โค้ชมีหน้าที่ชวนผู้รับการโค้ช ตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน (Present State) นอกจากนี้ โค้ชยังคงต้องดำรงอยู่ในสติ ไม่เร่งถามไปตามกระบวนการ ควรเอาใจใส่ในการฟัง หมั่นคอยสร้างสายสัมพันธ์ (Rapport) และ พูดทวนคำ (Back Tracking) เพื่อสร้างความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง

    Causes

    • โค้ชอาจตั้งคำถาม สืบสาวถึงเหตุที่อาจเป็นอุปสรรค (Obstacle) ต่อการก้าวไปสู่เป้าหมาย สิ่งที่เป็นเรื่องราวคู่ขนาน ที่ซ่อนอยู่ภายใต้บทสนทนา อาจเป็นข้อจำกัดจากความคุ้นชิน หรือ ขอบเขตที่รอการก้าวข้าม การละวางจากปม (Trauma) ในอดีต แล้วเปิดโอกาสให้กับโลกแห่งความเป็นไปได้ อาจจำเป็นต้องใช้ศาสตร์ศิลป์แห่งการเยียวยา (Healing) หรือ ยังมีวิธีอื่นๆ … “วิปัสสนา” คือ การรู้เพื่อละวาง นี่อาจเป็นหนึ่งทาง ที่จะทำให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวภายในของตัวเอง จนสามารถเยียวยาตัวเองได้ 

    Middle Way

    • เมื่อผู้รับการโค้ชได้เห็นเหตุปัจจัยอย่างครบถ้วน โค้ชจึงใช้คำถามนำพาให้ผู้รับการโค้ชได้ เห็นในมุมมองที่เป็นประโยชน์ ณ ปัจจุบัน สามารถคิดสร้างสรรค์หนทางเชื่อมโยงจากปัจจุบันสู่ ความสำเร็จในอนาคต (Relevancy) ในกรณีที่ ผู้รับการโค้ช คิดออกมาในหลากหลายทางเลือก (Options) โค้ชมีหน้าที่กระตุ้นให้ผู้รับการโค้ช จัดเรียงทางเลือกตามลำดับความสำคัญ แล้วใช้คำถามชวนให้ผู้รับการโค้ช สร้างพันธสัญญาด้วยตัวเอง (Commitment) นอกจากนี้ โค้ชยังสามารถใช้คำถามเพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อความเจริญก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย
    • ก่อนจบการโค้ช จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่โค้ชจะชวนให้ผู้รับการโค้ชได้ทบทวนเรื่องราวที่พูดคุย (Crystallize) เพื่อตกผลึกนำไปสู่การปฏิบัติจริงต่อไป
    บันทึก หลักคิดบางส่วนสำหรับการโค้ช
    • การฟัง
      + ระวังการเพลินไปกับเรื่องราวที่ได้ฟัง
      + ให้เวลาผู้รับการโค้ชได้คิด ปล่อยให้มีช่วงเงียบบ้างก็ได้
    • การตั้งคำถาม
      + ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการโค้ช ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากรู้
      + การถามถึงอดีต มักได้เพียงคำตอบเก่าๆ การถามถึงอนาคต จะนำไปสู่คำตอบใหม่ๆ
      + ระวังการถามนำ (Leading Question)
      + ควรใช้คำถามปลายเปิด
    • การสะท้อนกลับ
      + ฝึกการพูดสะท้อนกลับแบบสั้น
      + การพูดสะท้อนกลับแบบทันทีทันใด อาจทำให้คำพูดปะปนไปด้วยความชอบ ความชัง ความหลง ความกลัว เพ่งโทษ ตัดสิน ตามประสบการณ์ของโค้ชเอง ดังนั้น โค้ชจึงจำเป็นต้องฝึกฟังอย่างเข้าใจ คือ ฟังไปถึงความรู้สึกของผู้พูดด้วยใจเป็นกลาง อย่างเป็นปัจจุบัน เสมือนถือกระจกบานใหญ่ ที่ทำหน้าที่สะท้อนกลับเท่านั้น
    • หลักคิดทั่วไป
      + เชื่อมั่นในคุณค่าของทุกคน เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ รู้จักไว้วางใจผู้อื่น
      + ศักยภาพของแต่ละคนแตกต่างกันได้ ไม่ต้องเหมือนเราก็ได้
      + ภายหลังการโค้ช ผู้รับการโค้ชต้องการเวลาในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
      + ภายหลังการโค้ช ผู้รับการโค้ชจะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเอง
      + ให้เวลากับการคลี่คลายเป้าหมายให้ชัด (Clarify Goal)
      การฝึกสติ จะช่วยเพิ่มทักษะการฟัง การตั้งคำถาม และ การสะท้อนกลับได้
    “Please call me by my true names
    … Joyful Solidity of The Heart”
    เขียนโดย : รัน ธีรัญญ์

    Comments

    comments